วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน อากาศเปลี่ยนแปลง...โรคแพ้อากาศ

อากาศเปลี่ยนแปลง...โรคแพ้อากาศ


อ.นพ.อนัญญ์ เพฑวณิช
วิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


          ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง หรือเรียกตามชื่อหนัง Season Change เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวแดดร้อน เดี๋ยวฝนตก เดากันไม่ถูก เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัยถ้าจะหยิบยกโรคแพ้อากาศมาบอกกัน เพราะถ้าเราปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและเหมาะสม โรคแพ้อากาศก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กและยังสามารถป้องกันไม่ให้การติดเชื้อนั้นลามออกไปหรือมีผลแทรกซ้อนด้วย

          การที่อากาศเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการแพ้อากาศ เพราะจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวของเยื่อบุจมูก คือ จมูกจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ปรับตัวไม่ค่อยได้ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนหรือเย็น ความชื้นของอากาศตลอดจนกลิ่นฉุนสิ่งระคายเคืองต่างๆจึงมักเรียกกันว่าโรคแพ้อากาศ โรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย พบประมาณร้อยละ20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งผู้ป่วยประมาณร้อยละ70 จะมีอาการก่อนอายุ 30 ปี




 
อาการเบื้องต้นของการแพ้อากาศ

          ผู้ป่วยจะมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก ชอบขยี้จมูกจนเกิดรอยบริเวณสันจมูก มีเสมหะในคอ เลือดกำเดาไหลบ่อย และอาจพบอาการคันตา แสบตา น้ำมูกไหล คันหู หูอื้อได้ ผู้ป่วยมักมีอาการดังกล่าวเวลาสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และความชื้นในอากาศ แต่เราต้องสังเกตอาการหน่อยเพราะโรคแพ้อากาศจะคล้ายกับไข้หวัด กล่าวคือ อาการของไข้หวัดจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ช่วงแรกจะใส ต่อมาจะข้น ระยะเวลาเป็นนาน 3-10 วัน มีไข้หรือไม่มีก็ได้ มีจามบ้างโดยไม่มีอาการคันจมูก ส่วนโรคแพ้อากาศจะมีอาการคันจมูก ร่วมกับน้ำมูกใส ๆ มีอาการคันตา น้ำตาไหล ไม่มีไข้ ซึ่งส่วนมากมักจะมีอาการมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป
          ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่ออาการเข้าได้กับโรคแพ้อากาศดังที่กล่าวมาแล้ว หรือไม่แน่ใจว่าเป็นโรคแพ้อากาศหรือไม่ เมื่อไปพบแพทย์นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว การตรวจที่ช่วยยืนยันว่าเป็นโรคแพ้อากาศหรือไม่ และแพ้อะไรบ้าง คือการทดสอบทางผิวหนังและการตรวจเลือด ซึ่งผลการตรวจเลือดมีค่าใช้จ่ายสูง และไม่ทราบผลทันที ปัจจุบันนิยมใช้การตรวจทางผิวหนังเป็นหลัก สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีโรคที่พบร่วมกับโรคแพ้อากาศ ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ น้ำคั่งในหูชั้นกลาง โรคหืดหอบ เจ็บคอ ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก การกรน รวมทั้งภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับอีกด้วย


หลักการรักษา

          ในปัจจุบันจะมี 3 ลักษณะ คือ การกำจัดและหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด การรักษาด้วยยากินและยาพ่นจมูก นอกจากนี้ยังมีการฉีดวัคซีน สำหรับระยะเวลาในการรักษาไม่สามารถบอกได้ชัดเจน ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยว่าสามารถหลีกเลี่ยง ป้องกันและดูแลได้มากน้อยแค่ไหน หากจำเป็นต้องใช้ยาพ่นจมูก ซึ่งสามารถช่วยลดอาการได้ โดยส่วนมากใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน หรือฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ใช้เวลา 3-5 ปีแล้วแต่บุคคล โรคแพ้อากาศสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีก ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยและความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย


วิธีป้องกันโรคแพ้อากาศ

          การป้องกันต้องอาศัยความร่วมมือทั้งผู้ป่วยและแพทย์ในการติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ การดูแลตนเองของผู้ป่วยและดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม จะช่วยทำให้อาการของโรคทุเลาลงมากจนไม่มีอาการเลย ผู้ที่เป็นโรคแพ้อากาศ สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติและอยู่ร่วมในสิ่งแวดล้อมเดียวกับผู้อื่นได้ ถ้าสามารถปฏิบัติตัวดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น.

 
เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น