วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

(Allergy Skin Test)

ผศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล





          การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง คือ การนำน้ำยาสกัดจากสารภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในอากาศ เช่น ฝุ่นบ้าน ตัวไรในฝุ่น แมลงสาบ เกสรหญ้า วัชพืช เชื้อรา เป็นต้น มาทำการทดสอบที่ผิวหนังของผู้ป่วย เพื่อทำให้ทราบว่าแพ้สารใด วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ที่มีความไวและความจำเพาะสูง ทำง่าย และราคาไม่แพง สามารถทราบผลได้ทันที ผู้ป่วยสามารถเห็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นด้วยตาของตนเอง


การทดสอบมี 2 วิธีคือ

1.วิธีสะกิด (Skin Prick Test) เป็นการทดสอบโดยหยดน้ำยาลงบนผิวหนังที่แขนและใช้เข็มสะกิดลงบนปลายหยดน้ำยา ซึ่งทำง่าย เร็ว ไม่เจ็บและใช้อุปกรณ์น้อย เสี่ยงต่อการแพ้ทั่วร่างกายน้อย

2. วิธีฉีดเข้าผิวหนัง (Intradermal Test) เป็นการฉีดน้ำยาเข้าผิวหนังเป็นจุดเล็กๆ ซึ่งทำยากกว่าและเสียเวลามากกว่า เจ็บกว่าและใช้อุปกรณ์มากกว่า และทั้งเสี่ยงต่อการแพ้ทั่วร่างกายได้มากกว่า

ก่อนการทดสอบ ผู้ทดสอบจะได้คำแนะนำงดยารับประทานบางชนิดตามระยะเวลาที่กำหนด

          การทดสอบ จะเริ่มด้วยวิธีสะกิดก่อน เป็นการตรวจคัดกรอง (screening test) เพื่อดูว่าผู้ป่วยแพ้รุนแรงมาก-น้อยเพียงใด ถ้าผู้ป่วยให้ผลบวกชัดเจนต่อน้ำยาสกัดสารภูมิแพ้ชนิดใดแล้วไม่จำเป็นต้องทดสอบด้วยวิธีฉีดเข้าผิวหนังอีก แต่ถ้าการทดสอบโดยสะกิดให้ผลลบ จึงทดสอบด้วยวิธีฉีดเข้าผิวหนังเป็นลำดับต่อไป

          โดยทั่วไปการทดสอบจะใช้น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ประมาณ 10-20 ชนิด และจะอ่านผลการทดสอบใน 15-20 นาที ถ้าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดจะเกิดรอยนูนและมีผื่นแดงๆรอบๆอาจรู้สึกคันเล็กน้อยตรงจุดนั้น เจ้าหน้าที่จะวัดขนาดของรอยนูน บันทึกไว้ และแพทย์จะอธิบายให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้อะไร

          หลังจากนั้น 24 ชั่วโมง ถ้ายังมีผื่นแดงที่สดสอบภูมิแพ้นั้น ผู้ป่วยต้องวัดขนาดผื่นแดงและบันทึกไว้เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบในวันที่นัดครั้งต่อไป ผื่นนั้นจะค่อยๆหายไปเอง


ประโยชน์ของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

1.ทำให้ทราบว่าโรคที่ผู้ป่วยเป็น มีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้

2. ทำให้ผู้ป่วยทราบว่าตนเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด และมากน้อยเพียงใด

3. ผู้ป่วยสามารถกำจัด หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ตนแพ้ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการของโรคอื่นขึ้นได้

4. ถ้าจำเป็นต้องรักษาโดยการฉีดวัคซีน แพทย์จะใช้ผลการทดสอบภูมิแพ้นี้เป็นข้อมูลในการสั่งวัคซีน

สำหรับฉีดให้ผู้ป่วย


ข้อควรระวังในการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

          สำหรับผู้ป่วยที่แพ้มาก อาจเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกายเช่นเดียวกับการแพ้ยาฉีดชนิดอื่น ได้แก่ การมีผื่นคัน ลมพิษทั้งตัว แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หอบหืด และความดันโลหิตต่ำมากได้ แต่อาการเหล่านี้พบได้น้อยมาก 

          หลังการทดสอบ ต้องนั่งพักรอดูอาการอย่างน้อย 30 นาที จึงกลับบ้านได้


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น