หัวจ๋า...ผมลาก่อน
รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม
ภาควิชาตจวิทยา
หัวจ๋า..ผมลาก่อน ดูชื่อหัวเรื่องแล้วอาจงงว่าเขียนผิดหรือเปล่า น่าจะเป็นเมียจ๋า..ผมลาก่อน ที่จริงชื่อเรื่องมีความหมายดังนี้ หัวในที่นี้คือ ศีรษะของเรา ผม คือ เส้นผม เมื่อเส้นผมกล่าวคำอำลาศีรษะ ผลที่จะเกิดขึ้น คือ ...ผมร่วง......ผมบาง......ศีรษะล้าน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก อาจเป็นปัญหาที่เกิดชั่วคราวหรือเป็นปัญหาเรื้อรัง เป็นที่เดือดเนื้อร้อนใจของหนุ่มสาว ทั้งวัยแรกแย้ม และหนุ่มหรือสาวใหญ่ที่แย้มแล้ว จนถึงวัยอาวุโสที่ยังไม่ยอมแพ้ธรรมชาติ ก็เดือดร้อนทั่วไปหมด ปัจจุบันจึงมีศูนย์เส้นผมเกิดขึ้นทุกหนแห่ง ทั้งในห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หรือศูนย์เส้นผมต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่ประกาศตัวช่วยแก้ไขปัญหาให้ท่านในทุกรูปแบบ แถมรับรองผล 100% ก็มี แต่ก่อนที่ท่านจะเลืกรับการรักษาด้วยวิธีใด ๆ ลองแวะมาอ่านบทความนี้ก่อนดีมั้ยครับ อย้างน้อยก็ช่วยท่านตัดสินใจที่จะรับการรักษาได้ไม่มากก็น้อย
สาเหตุของผมร่วง เกิดจากหลายปัจจัย
1. เผ่าพันธุ์ เพศ อายุ
2. เชื้อโรคที่เล่นงานเส้นผมโดยตรง หรือเป็นผลทางอ้อมคือ เป็นโรคติดเชื้อที่อวัยวะอื่นแล้วทำให้เกิดผมร่วงผิดปกติตามมาภายหลัง
3. สารเคมี เช่น ยาชนิดต่างๆ สารพิษปนเปื้อนในอาหาร และน้ำ
4. โรคตามระบบต่างๆ เช่น โรคไตวาย โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ
5. จิตใจที่เศร้าหมองอย่างรุนแรง และเฉียบพลัน จนถึงตกใจอย่างรุนแรง
สำหรับอาหารการกินต่าง ๆ มักจะไม่มีผลต่อภาวะผมร่วง ยกเว้นภาวะทุโภชนาการครับ
รู้ได้อย่างไรว่าผมร่วงมากผิดปกติ
ผมหลุดร่วงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเส้นผมหลุดร่วงเกิน 100 เส้น/วัน ติดต่อกันนานหลาย ๆ วัน แสดงว่ามีผมร่วงมากผิดปกติ
ภาวะผมร่วง และผมบางลง แยกเป็นกลุ่ม คือ
1. ภาวะผมร่วงเฉพาะที่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผมร่วงหย่อมชนิดไม่มีแผลเป็นที่หนังศีรษะ ที่พบบ่อย ๆ ได้แก่
1.1 ผมร่วงหย่อมจากเชื้อรา พบมากในเด็ก ผมจะร่วงเป็นกระจุก ผิวหนังในบริเวณที่ผมร่วงจะมีขุยหรือสะเก็ด บางครั้งมีผื่นแดง การรักษา ต้องใช้ยารับประทาน ยาทาไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมด
1.2 ผมร่วงหย่อมจากการดึงผมตนเอง พบมากในเด็กที่มีความเครียด และเมื่อไม่มีทางระบายออกจึงดึงผมตนเอง เมื่อใช้มือลองดึงเส้นผมดูเส้นผมจะไม่หลุดติดมือออกมาง่าย ๆ เหมือนโรคผมร่วงจากเชื้อรา การรักษา ต้องอาศัยความเข้าใจพยาธิกำเนิดของโรค และเข้าใจปัญหาของผู้ป่วย อาจควรปรึกษาจิตแพทย์ร่วมในกระบวนการดูแลรักษาด้วย นอกจากนี้การทายาครีมสตีรอยด์ ร่วมกับรับประทานยาต้านฮีสตามีนจะช่วยให้อาการดีขึ้น
1.3 ผมร่วงหย่อมจากโรคภูมิแพ้รากผม ผู้ป่วยจะมีภาวะระบบภูมิคุ้มกันร่างกายรวน มีเซลล์เม็ดเลือดขาวมารบกวนรากผมทำให้เซลล์รากผมหยุดทำงาน เส้นผมจะหายไปเป็นหย่อม ๆ ผิวหนังบริเวณที่ไม่มีเส้นผมจะเรียบไม่พบตอ เส้นผมหักหรือเป็นตุ่มที่ผิวหนัง ภาวะนี้จะต่างจาก 2 โรคข้างต้น โดยทั่วไปอาจพบผมหลุดร่วงเป็นหย่อมเดียวหรือหลายหย่อม ในรายที่อาการรุนแรงผมจะร่วงทั้งศีรษะ และถ้ารุนแรงที่สุดผมและขนตามตัวจะร่วงหมดเหมือนพญาไร้ใบ การรักษา ควรปรึกษาแพทย์เพราะการรักษาต้องใช้สตีรอยด์ชนิดยาทาหรือกินติดต่อกันเป็นเวลานาน
1.4 ผมร่วงหย่อมชนิดที่มีแผลเป็นบนหนังศีรษะ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคฝีหนองบนศีรษะ เชื้อกลากที่ศีรษะชนิดที่มีการอักเสบรุนแรง แผลไฟไหม้น้ำร้อนรวก โรคดี แอล อี ที่หนังศีรษะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่รากผมจะถูกทำลายอย่างมาก จนไม่สามารถสร้างเส้นผมใหม่มาทดแทนเส้นผมเดิม และเกิดพังผืดในชั้นหนังแท้ร่วมด้วย การรักษา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อนให้การรักษาด้วยยา
2. ภาวะผมร่วงทั่วศีรษะ ที่พบบ่อย ๆ คือ
2.1 ภาวะผมร่วงระยะ Telogen ผู้ป่วยกลุ่มนี้เส้นผมบนศีรษะเปลี่ยนจากระยะเติบโตไปเป็นระยะหยุดเจริญเติบโต ผมจึงหลุดร่วงมากผิดปกติ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคติดเชื้อชนิดต่างๆ; ไข้ทัยฟอยด์ ไข้มาเลเรีย ไข้หวัดที่มีไข้ติดต่อกันหลายวัน ยาชนิดต่าง ๆ เช่น ยากลุ่มอนุพันธุวิตามิน เอ เช่น etretinate, acitretin นอกจากนี้ยังพบในสตรีหลังคลอดบุตร ภาวะเครียดหรือตกใจอย่างรุนแรง อาการผมร่วงจะค่อย ๆ ดีขึ้น ภายในเวลา 1-2 เดือนเมื่อสาเหตุต่างๆผ่านไป
2.2 ภาวะผมร่วงทั่วศีรษะจากการติดเชื้อซิฟิลิสระยะที่ 2 ผมจะร่วงเป็นหย่อม ๆ ทั่วศีรษะคล้ายมอดแทะ การวินิจฉัยที่แน่นอนต้องอาศัยการตรวจเลือด
2.3 ภาวะผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมนเพศ ผู้ป่วยจะเกิดอาการรากผมค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากผมเส้นใหญ่ไปเป็นเส้นผมเส้นเล็ก ถ้าเกิดในผู้ชายผมจะบางลงมากในบริเวณกลางศีรษะ ส่วนผู้หญิง ผมจะบางลงบริเวณกลางศรีษะเช่นเดียวกันแต่จะไม่ล้านเตียนโล่งแบบผู้ชาย การรักษา ภาวะผมบางชนิดนี้มีหลายวิธี ดังนี้ ใช้ยาปลูกผม
1. Minoxidil มีทั้งชนิดทาและรับประทาน ไม่เหมาะที่จะให้ผู้หญิงรับประทานเพราะจะทำให้ขนตามตัว หนวด เครายาวผิดปกติ ในผู้หญิงควรใช้ยานี้ในรูปยาทาเท่านั้น
2. ยา finasteride 1 mg/day ผู้ป่วยต้องใช้ยาติดต่อกันนานอย่างน้อย 1 ปี และเมื่อได้ผลแล้วต้องใช้ยาต่อไป เพราะถ้าหยุดยาผมที่งอกขึ้นมาจะกลับบางลงเหมือนเดิม (ยาชนิดนี้ไม่ได้ผลนักในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว)
3. ยา spironolactone เป็นยาขับปัสสาวะ ใช้ลดความดันเลือด มีฤทธิ์ต้านการทำงานของฮอร์โมน androgen ทำให้เส้นผมไม่เปลี่ยนไปเป็นเส้นผมขนาดเล็ก (การใช้ยาชนิดนี้ ต้องติดตามดูความดันเลือดและระดับเกลือแร่ในเลือดเพื่อป้องกันผลข้างเคียงของยา)
ภาวะผมร่วง ศีรษะบาง ล้าน มีสาเหตุและปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ การดูแลรักษาควรตรวจหาสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ร.พ.ศิริราช มี “คลินิกรับปรึกษาโรคเส้นผม” ที่หน่วยตรวจโรคผิวหนังภาควิชาตจวิทยา ตึกผู้ป่วยนอกชั้นที่ 4 คอยให้บริการทุกท่าน ด้วยความพร้อมด้านบุคลากร และเครื่องมือรักษา เปิดบริการทุกวันพุธ เวลา 9.00-12.00 น. สอบถาม โทร. 0 24197380-1 ครับ
เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น