แผลเป็น
ผศ.นพ.สรวุฒิ ชูอ่องสกุล
สาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
คำถามที่ 1 แผลเป็นมีกี่ชนิด
แผลเป็นมีหลายรูปแบบ แต่แผลเป็นที่ถือว่าผิดปกตินั้นจะแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1.แผลเป็นที่โตนูน แผลเป็นที่โตนูนมี 2 แบบคือ
- แผลเป็นนูนเกิน หรือ hypertrophic scar : เป็นแผลเป็นที่โตนูน แต่ไม่เกินขอบเขตของแผลเดิม ในระยะแรกจะมีลักษณะนูน แดง คัน
- แผลเป็นคีลอยด์ : เป็นแผลเป็นที่โตนูน และขยายใหญ่เกินขอบเขตของแผลเดิมไปมาก
2.แผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปที่เรียกว่า depressed scar มีลักษณะเป็นร่อง หรือรูบุ๋มลึกลงไปใต้ผิวหนัง
3.แผลเป็นที่มีการหดรั้งร่วมด้วย เรียกว่า scar contracture : แผลเป็นชนิดนี้จะดึงรั้งอวัยวะบริเวณแผลให้ผิดรูปได้
แผลเป็นทั้งสามลักษณะนี้อาจจะมีผิวสีซีดที่เรียกว่า hypopigmentation หรือผิวสีเข้ม hyperpigmentation ก็ได้
คำถามที่ 2 hypertrophic scar เกิดจากอะไร
จริงๆแล้วยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าทำไมบางคนถึงเกิด hypertrophic scar หรือแผลเป็นนูนเกิน แต่สาเหตุอาจจะพบได้จากการที่แผลเกิดในตำแหน่งที่ความตึงมาก เช่น บริเวณข้อต่อหรือกลางหน้าอก เป็นต้น แผลเป็นนูนเกินนี้มักจะพบได้มากในช่วงระยะ 6 เดือนแรก หลังจากนั้นก็จะค่อยๆยุบลง และจะกลับเข้าสู่แผลเป็นคงที่ (stable scar) มีลักษณะใกล้เคียงแผลเป็นปกติในช่วงประมาณ 1 ปีภายหลังเกิดแผล
คำถามที่ 3 แผลเป็นคีลอยด์เกิดจากอะไร
จริงๆก็ยังไม่ทราบสาเหตุของแผลเป็นคีลอยด์ แต่พบว่ามักจะเกิดในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม ในตำแหน่งที่เกิดได้บ่อย ได้แก่ หัวไหล่ ติ่งหูและกลางหน้าอก ส่วนหนึ่งพบในผู้ป่วยที่มีประวัติทางพันธุกรรม คือ มีประวัติการเกิดคีลอยด์ในพ่อหรือแม่ แผลเป็นคีลอยด์นี้เชื่อว่าเกิดจากการที่แผลเป็นมีการสร้างสารที่เรียกว่าคอลลาเจนมากเกินกว่าปกติ
คำถามที่ 4 เราจะป้องกันได้อย่างไร
การป้องกันการเกิดแผลเป็นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการที่มีแผลใหม่ๆ เราจะเริ่มโดยการแนะนำให้ผู้ป่วยนวด หรือการกดบริเวณนั้นๆ โดยทั่วไปแล้วการนวดอย่างสม่ำเสมอในระยะประมาณ 3-6 เดือนแรก เป็นเรื่องสำคัญ และจะช่วยให้แผลเป็นนั้นลดการขยายตัวและนูนเกินได้ ในบางครั้งแผลเป็นที่มีขนาดใหญ่กว้าง เช่นแผลเป็นที่เกิดจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก อาจจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือพิเศษหรือผ้ารัดหรือ pressure garment
pressure garment นี้จะต้องสวมใส่เพื่อที่จะรัดบริเวณที่เกิดแผลเป็น เช่น ใบหน้า ลำตัว และแขน ขา ในช่วงระยะประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีแรกหลังจากได้รับอุบัติเหตุ
การนวดก็จะสามารถลดการเกิดแผลเป็นได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในช่วงระยะแรกที่แผลเป็นมีการอักเสบอยู่ การนวดก็จะช่วยลดไม่ให้แผลเป็นมีการขยายใหญ่โตได้
คำถามที่ 5 การรักษามีกี่วิธี
หากพบว่ามีแผลเป็นเกิดขึ้นแล้ว จะเริ่มจากการรักษาโดย
- วิธีที่ 1 คือวิธีอนุรักษ์หรือว่า conservative ก่อน โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่าเกิน 95 % รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด วิธีที่แนะนำให้ใช้วิธีแรกคือ การใช้แผ่นซิลิโคนปิด แผ่นซิลิโคนนี้จะเป็นแผ่นเจลใสๆที่ทำมาจากซิลิโคน เราสามารถปิดไว้บนบาดแผล หลังจากบาดแผลหายดีแล้วประมาณ 7 วัน การปิดแผลนี้แนะนำให้ปิดตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งข้อดีจะทำให้บริเวณผิวหนังที่อยู่ใต้แผ่นซิลิโคนนี้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้ลดการอักเสบได้
- วิธีที่ 2 เนื่องจากว่าบางครั้งเราพบว่าการปิดด้วยซิลิโคนอาจจะไม่สะดวก การใช้แผ่นเทปเหนียว หรือว่า microporous tape ก็จะสามารถทดแทนได้เช่นเดียวกัน แผ่นเทปเหนียวนี้สามารถใช้ปิดลงบนบาดแผลได้โดยตรง และจะทำให้ผิวหนังบริเวณใต้ต่อเทปนี้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้มีการอักเสบลดน้อยลง
- วิธีที่ 3 การฉีดยาด้วยยาสเตียรอยด์ จะลดการอักเสบของการเกิดเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ได้ ยาที่แนะนำคือ Triamcinolone acetonide ซึ่งเป็นยาฉีดเฉพาะที่ สามารถลดการอักเสบ วิธีการรักษาคือฉีดยาเข้าไปในแผลเป็นโดยตรง แต่ก็อาจทำให้มีอาการเจ็บได้พอสมควรในระหว่างการฉีดยา จะแนะนำให้ฉีดแผลเป็นนี้ในช่วงระยะประมาณไม่เกิน 1 ปีแรกหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่แล้วจะนัดมาฉีดประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งความถี่ในการฉีดขึ้นอยู่กับการตอบสนองของยาว่าเป็นอย่างไร
- วิธีที่ 4 คือการผ่าตัด การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับรูปแบบของแผลเป็นนั้น ถ้าเป็นกรณีที่เกิดเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ เราก็อาจจะใช้วิธีตัดออก หรือว่าลดขนาดลงบางส่วน วิธีนี้อาจจะใช้ร่วมกับการรักษาโดยวิธีอื่น เช่น การฉีดยา หรือการปิดด้วยแผ่นซิลิโคนก็ได้ การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธี อาจจะใช้วิธีตัดออกโดยตรงแล้วเย็บปิดเป็นเส้นตรง หรืออาจจะตัดออกเป็นรูปซิกแซก เพื่อที่จะให้แผลเป็นที่เกิดขึ้นใหม่มีลักษณะใกล้เคียงกับรอยย่นตามผิวหนัง
การผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งคือการลดขนาดของแผลเป็น วิธีนี้เราจะใช้วิธีการตัดแผลเป็นออกบ้างบางส่วน โดยจะไม่ตัดออกทั้งหมด หลังจากนั้นจะนัดผู้ป่วยมาเพื่อติดตามผลการรักษา หากแผลเป็นมีขนาดเล็กลงอาจจะนัดมาตัดซ้ำอีกครั้ง เรียกว่าการตัดแบบทีละน้อย หรือ serial excision วิธีการผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งคือการใช้วิธีขัดกรอผิวหนัง หรือว่า dermabrasion การขัดกรอผิวหนังนี้จะใช้ในกรณีที่มีแผลเป็นที่รอยขรุขระหรือไม่เรียบหรือเป็นรอยบุ๋ม แผลเป็นนี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากสิวอักเสบหรือโรคสุกใส การใช้หัวกรอหรือใช้แสงเลเซอร์ยิงบริเวณที่รอยขรุขระนี้ เพื่อจะปรับสภาพผิวให้ราบเรียบขึ้น แต่ข้อควรระวังคืออาจจะเกิดมีการเกิดผิวสีเข้มหรือ hyperpigmentation บริเวณนั้นได้
การรักษาแผลเป็นนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาดูว่าแผลเป็นนั้นเป็นแผลเป็นนูนชนิดใด หากเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ จะต้องพิจารณาการรักษาอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นอาจจะมีแผลเป็นใหญ่โตเกินกว่าขนาดเดิมได้ โดยทั่วไปแล้วแผลเป็นมักจะสามารถป้องกันได้ เพราะฉะนั้นหากเรารู้จักวิธีการดูแลรักษาภายหลังจากที่ได้รับแผลเป็นใหม่ๆ ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้แผลเป็นนั้นนูนเกินหรือเป็นคีลอยด์ได้ในอนาคต
เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น