คัดจมูก...เกิดจากอะไรเอ่ย
(Nasal Obstruction)
(Nasal Obstruction)
ผศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
สาเหตุของอาการคัดจมูก
1. โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
2. โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้
3. โรคจมูกอักเสบจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัส, เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราก็ได้
4. ผนังกั้นช่องจมูกคด
5. สิ่งแปลกปลอมอยู่ในโพรงจมูก ซึ่งมักพบบ่อยในเด็ก
6. เนื้องอกในโพรงจมูก เช่น ริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกชนิดร้าย
7. โรคเยื่อบุจมูกเหี่ยวฝ่อ
8. ภาวะเลือดคั่งในผนังกั้นช่องจมูก
9. ภาวะกระดูกอ่อนของจมูกทางด้านข้างยุบตัว เวลาหายใจเข้า (nasal valve collapse)
10. ภาวะกระดูกเทอร์บิเนตด้านข้างโพรงจมูกบวมโต
11. ภาวะรูเปิดของโพรงจมูกด้านหลังตีบตัน (choanal atresia)
12. ต่อมแอดีนอยด์หลังโพรงจมูกโต
13. เกิดจากยาขยายหลอดเลือดบางชนิด เช่นใช้ยาหดหลอดเลือดนานเกินไป, ยาจำพวก aspirin, nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDS), beta-blocker (oral and ophthalmic), bromocriptine, estrogens, oral contraceptive, prazosin, methyldopa, phentolamine, guanethidine, reserpine และ tricyclic antidepressant
การประเมินผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูก
ประวัติ
1. เวลาที่เริ่มมีอาการคัดจมูก ระยะเวลาที่มีอาการคัดจมูก สิ่งใดที่ทำให้อาการคัดจมูกเป็นมากขึ้น หรือน้อยลง
2. อาการคัดจมูกเป็นข้างเดียวหรือสองข้าง อาการคัดจมูกเป็นๆหายๆ หรือเป็นตลอดเวลา
3. ลักษณะของน้ำมูกที่ไหลออกมาเป็นอย่างไร
4. มีเลือดกำเดาไหล หรือน้ำมูกปนเลือดหรือไม่
5. อาการปวดจมูกสัมพันธ์กับอาการปวดตาหรือไม่
6. มีอาการหูอื้อหรือไม่ มีอาการไอหรือไม่ ซึ่งอาจสัมพันธ์กับโรคหอบหืด
7. ประวัติการใช้ยา การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า
8. อุบัติเหตุ หรือการผ่าตัดจมูก
การตรวจร่างกาย
เริ่มตั้งแต่ลักษณะภายนอกของจมูก แพทย์จะตรวจดูว่ามีจมูกส่วนนอกโก่งหรือยุบตัวหรือไม่ การกระแทกบริเวณกระดูกอ่อนด้านข้างส่วนบน สามารถทำให้ผนังกั้นช่องจมูกเคลื่อน หรือคดได้ การพบเส้นแนวขวาง ที่สันจมูก อาจเกิดจากการใช้มือขยี้จมูกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ การเคาะหรือกดเจ็บบริเวณข้างแก้ม อาจพบได้ในผู้ป่วยไซนัสอักเสบ
การตรวจภายในโพรงจมูก แพทย์จะตรวจทั้งด้านหน้าและด้านหลังของโพรงจมูก โดยไม่ใช้ยาหดหลอดเลือด ลดอาการบวมในขั้นแรก การตรวจทางด้านหน้าโพรงจมูก แพทย์จะดูลักษณะและสีของน้ำมูก ลักษณะผนังกั้นช่องจมูก ลักษณะเยื่อบุจมูก ตรวจบริเวณรูเปิดไซนัส ถ้าพบว่ามีผนังกั้นช่องจมูกคดมาด้านใดด้านหนึ่ง อาจพบว่ามีเยื่อบุจมูกของอีกข้างหนึ่งโตกว่าปกติได้ การตรวจทางด้านหลังโพรงจมูก อาจพบต่อมแอดีนอยด์ ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองหลังโพรงจมูกโตได้ หลังการตรวจดังกล่าวแล้วแพทย์อาจพ่นยาหดหลอดเลือดลดการบวมของเยื่อบุจมูกแล้วตรวจซ้ำ หากอาการคัดจมูกดีขึ้นมากหลังการพ่นยาหดหลอดเลือด แสดงว่าผู้ป่วยมีเยื่อ บุของเทอร์บิเนทอันล่างบวมโต หากอาการคัดจมูกดีขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือไม่ดีขึ้น อาจเป็นจากผู้ป่วยใช้ยาหดหลอดเลือด ลดการบวมของเยื่อบุจมูกนานเกินไปจนเกิดเยื่อจมูกอักเสบที่เรียกว่า rhinitis medicamentosa หรือาจเป็นจากปัญหาผนังกั้นช่องจมูกคด มีเนื้องอกหรือริดสีดวงจมูก หรือมีโครงสร้างจมูกที่ผิดปกติไป
ในกรณีที่เป็นเด็ก แพทย์อาจใช้ที่ตรวจหู ตรวจในจมูกแทนได้ หรือในผู้ใหญ่บางรายที่ต้องการตรวจอย่างละเอียด แพทย์อาจใช้กล้องส่องตรวจภายในจมูกชนิดแข็งหรือชนิดอ่อนที่ทำจากเส้นใยไฟเบอร์ (rigid or fiberoptic nasal endoscope ) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น
การวัดความกว้างของช่องจมูก
แพทย์จะให้ผู้ป่วยหายใจออกบนไม้กดลิ้น แล้ววัดขนาดวงของไอน้ำบนไม้กดลิ้น โดยเปรียบเทียบกันสองข้าง ถ้ามีปัญหาเรื่องผนังกั้นช่องจมูกคด อาจจะมีวงของไอน้ำขนาดต่างกันได้ นอกจากนี้แพทย์อาจวัดปริมาตรของจมูกโดยการใช้คลื่นเสียง (acoustic rhinometry) โดยปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงและวัดคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมา หรือวัดความดันและปริมาตรของอากาศที่ผ่านเข้าออกในช่องจมูก (rhinomanometry)
การตรวจด้วยภาพถ่ายรังสี
1. เอ็กซเรย์จมูกและไซนัสโดยใช้ฟิลม์ธรรมดา (plain film) สามารถเห็นลักษณะผนังกั้นช่องจมูกที่คด, เทอร์บิเนทอันล่างโต หรือภาวะไซนัสอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดอาการคัดจมูกได้
2. เอ็กซเรย์กระดูกของจมูก (lateral nasal bone) ดูว่ามีการหักของกระดูกสันจมูกหรือไม่
3. เอ็กซเรย์จมูกและไซนัสโดยใช้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT nose and paranasal sinus) ช่วยประเมินโครงสร้างจมูกและโพรงอากาศข้างจมูกได้ดีขึ้น โดยเห็นโครงสร้างส่วนที่เป็นกระดูกได้ชัดเจน
4. เอ็กซเรย์จมูกและไซนัสโดยใช้คลื่นแม่เหล็ก (MRI nose and paranasal sinus) สามารถบอกรายละเอียดของเยื่อบุจมูกและโพรงอากาศข้างจมูกได้ดี แต่ดูโครงสร้างจมูกส่วนที่เป็นกระดูกได้ไม่ชัดเจน
การรักษา อาจทำได้โดยการรับประทานยาหรือพ่นยาในจมูก หรือการผ่าตัดแล้วแต่สาเหตุ
เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น