สุขอนามัยการนอนที่ดีขั้นพื้นฐาน
(Basic Sleep Hygiene)
อ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ
ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
ข้อปฏิบัติต่อไปนี้ เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นอย่างง่ายๆ เพื่อให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพมากขึ้น อาจช่วยแก้ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการนอนได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าทำได้เป็นประจำจะเกิดเป็นนิสัยการนอนหลับที่ดีในระยะยาว
1.หลีกเลี่ยงสิ่งที่เหล่านี้ เช่น
• การดื่ม เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ชาเขียว น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังอาหารมื้อเที่ยง เช่นอาจดื่มกาแฟ 1-2 แก้วเฉพาะในช่วงเช้า ทั้งนี้ เนื่องจากคาเฟอีนทำให้สมองตื่นตัวขึ้น และออกฤทธิ์ ได้นานไม่ต่ำกว่า 6 -7 ชั่วโมง
• การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ รวมถึงเหล้า เบียร์ หรือ ไวน์ ในช่วงเวลา 4- 6 ชม. ก่อนนอน เนื่องจากในช่วงแรกเครื่องดื่มดังกล่าว อาจทำให้ท่านหลับเร็วขึ้น แต่เมื่อหมดฤทธิ์ใน 3-4 ชม.แล้ว ช่วงการนอนต่อมาท่านจะตื่นแล้วนอนหลับไม่สนิท มึนศีรษะและไม่สดชื่นเมื่อตื่นนอน นอกจากนี้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล ยังทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจหย่อนมากขึ้นและสมองตื่นตัวช้าลง ทำให้ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ (OSA) มีอาการรุนแรงมากขึ้น
• การสูบบุหรี่ เนื่องจากมีสารนิโคติน ที่ทำให้สมองตื่นตัว และพยายามหลีกเลี่ยงยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท รวมถึง ยาขยายหลอดลมบางชนิด หรือยาแก้คัดจมูก บางชนิด ในช่วงก่อนนอน ทั้งนี้อาจเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นแทนถ้าสามารถทำได้
• การรับประทานอาหารจำนวนมาก หรืออาหารที่ย่อยยาก ในช่วงน้อยกว่า 3 ชม.ก่อนนอน เช่น เนื้อสัตว์ หรือไขมันปริมาณสูง เนื่องจากอาจทำให้ท่านอึดอัด หลับไม่สนิท และเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้
• การออกกำลังกายอย่างหนักมากในช่วงหัวค่ำ หรือก่อนเข้านอนน้อยกว่า 4-6 ชม. ทั้งนี้ท่านอาจออกกำลังกายในช่วงเช้า เช่น ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แทน เป็นต้น
• ควรหลีกเลี่ยงใช้ยานอนหลับอย่างต่อเนื่องนานเกิน 1 เดือน ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเกิดภาวะพึ่งยา หรือติดยานอนหลับ ซึ่งจะทำให้ มีปัญหาในภายหลังมากขึ้น และถ้าท่านมีปัญหานอนกรน อาจทำให้ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับแย่ลงกว่าเดิมได้
• ควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่มีความเครียด ในช่วงเวลาใกล้นอน
2. เพิ่มปัจจัยที่ส่งเสริม การนอนหลับที่ดี เช่น
• พยายามปรับสิ่งแวดล้อมในการนอนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เช่น การเลือกหมอน หรือที่นอนที่สบายพอเหมาะกับสรีระของท่าน ลดแสงหรือเสียงรบกวน ให้น้อยลง และควบคุมอุณหภูมิห้องให้พอดี
• ควรปรับท่านอนให้เหมาะสมกับสรีระของแต่ละท่าน เช่น ผู้ที่นอนกรน หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับนั้นส่วนใหญ่ (ไม่เสมอไป) ท่านอนหงายมักจะมีอาการมากกว่าท่านอนอื่น ๆ ดังนั้นถ้าสามารถปรับให้เกิดความเคยชินในท่านอนตะแคง นอนศีรษะสูงเล็กน้อย (ถ้าทำได้โดยที่ไม่ฝืนจนเกินไป) ก็อาจช่วยบรรเทา อาการโรคดังกล่าว ได้ในบางราย
• ควรหลับอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 -8 ชม. และควรเข้านอนก่อนเที่ยงคืน
•พยายามอยู่บนที่นอน เมื่อคุณง่วงนอนจริง ๆ เท่านั้น และปรับท่านอนให้เหมาะสมกับตนเอง
• ถ้าไม่สามารถหลับได้หลังจากเข้านอนแล้ว เกิน 30 นาที ให้ลองออกจากห้องนอน แล้วทำกิจกรรมอย่างสงบ เช่น อ่านหนังสือ ทำใจสบาย ๆ หรือ ฟังวิทยุเบา ๆ เมื่อเกิดความง่วงแล้ว จึงเข้าไปนอนอีกครั้ง
• ถ้าตื่นขึ้นระหว่างที่นอนกลางคืน ไม่ควรพยายามกดดันตนเองเพื่อให้รีบนอนจนเกินไป เช่น อาจไม่ดูนาฬิกา หรือ เลือกนาฬิกาที่เสียงเบาและไม่รบกวน ซึ่งจะทำให้ลดความเครียดและความกังวลหรือกลัวว่าจะนอนไม่หลับ
• ในระหว่างกลางวัน พยายามไม่งีบหลับถ้าทำได้ แต่หากท่านง่วงอย่างมาก การงีบหลับช่วงสั้น ๆ จะช่วยท่านให้สดชื่นขึ้นได้ อย่างไรก็ตามไม่ควรนานเกิน 1 ชั่วโมง และ ไม่ควรงีบในช่วงหัวค่ำ
• อาหารมื้อเบา ๆ ก่อนนอน เช่นขนม หรือ นม ปริมาณเล็กน้อย มีสารบางอย่างอาจช่วยให้หลับดีขึ้น
3. ข้อปฏิบัติอื่น ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น
• รักษาความสมดุลและความสม่ำเสมอในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆของท่าน เช่น รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ เป็นต้น เพื่อการทำงานของระบบต่างของร่างกายจะได้ปรับตัว ตามนาฬิกาธรรมชาติ ภายในตนเองง่ายขึ้น
• การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป เนื่องจากจะทำให้อึดอัด และเป็นความเสี่ยงต่างโรคต่าง ๆ จำนวนมาก รวมถึงภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับด้วย
• หาวิธีผ่อนคลายความเครียด ต่าง ๆ เช่น การแบ่งเวลาเพื่อใคร่ครวญและหาทางแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม การทำสมาธิ การฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือการปรึกษาหารือกับผู้ที่ไว้วางใจ ฯลฯ
หากท่านปฏิบัติตามคำแนะนำพื้นฐานง่าย ๆ เบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ท่านควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่เป็นความผิดปรกติทางร่างกาย อื่น ๆ และรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น