วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน มะเร็งปากมดลูก...ภัยที่ป้องกันได้

มะเร็งปากมดลูก...ภัยที่ป้องกันได้

รศ.นพ.มงคล เบญจาภิบาล
สูตินรีแพทย์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



 
          จากสถานการณ์ของมะเร็งปากมดลูก ที่พบเป็นอันดับ 2 ของสตรีทั่วโลกรองจากมะเร็งเต้านม แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว พบมะเร็งชนิดนี้สูงเป็นอันดับ 1 ซึ่งในแต่ละปีมีการตรวจพบมะเร็งปากมดลูกรายใหม่กว่า 6,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 2,600 รายต่อปี กล่าวได้ว่า ทุกๆ วันจะมีสตรีไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกถึง 7 คน นับเป็นปัญหาสำคัญของสาธารณสุขไทย อย่างไรก็ตามยังมีข่าวดีให้ชื่นใจ ด้วยในระยะ 4-5 ปีมานี้ ได้มีการค้นพบสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกและสามารถผลิตวัคซีนป้องกันได้เป็นผลสำเร็จ

          ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่า มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (human papilloma virus หรือ HPV) ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมาจากเพศสัมพันธ์ โดยการสัมผัสแล้วผิวหนังหรือเยื่อบุของอวัยวะเพศ หรือปากมดลูกมีรอยถลอกหรือแผลที่ทำให้เชื้อเข้าไปได้ จากสถิติในปัจจุบันพบว่า ผู้หญิงที่มีอายุน้อยที่สุดเป็นมะเร็งปากมดลูก อายุเพียง 10 กว่าปีเท่านั้น อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่โรคนี้มักพบในหญิงอายุประมาณ 40 ปี

          เชื้อไวรัสชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มความเสี่ยงต่ำ ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ และรอยโรคขั้นต่ำ ส่วนกลุ่มความเสี่ยงสูงเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อปากมดลูกจนกลายเป็นรอยโรคขั้นสูงและมะเร็งในที่สุด โดยกระบวนการเกิดมะเร็งปากมดลูกใช้เวลาเฉลี่ย 5 – 15 ปี

          จากการศึกษาพบว่าสตรีที่ติดเชื้อไวรัสกลุ่มความเสี่ยงสูง มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 400 เท่า เมื่อเทียบกับสตรีที่ไม่พบการติดเชื้อดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อดังกล่าวอาจจะหายเองได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในกรณีที่การติดเชื้อยังคงอยู่ หรือฝังแน่นที่ปากมดลูกก็จะมีการพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ เนื่องจากโรคนี้มีระยะก่อนมะเร็งให้ตรวจพบได้ ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ที่เรียกว่าการทำแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) จะทำให้พบระยะก่อนมะเร็ง และมะเร็งระยะเริ่มแรก ช่วยให้สามารถรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้

 
นอกจากการติดเชื้อเอชพีวีแล้ว ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่

1. อายุ มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

2. มีคู่นอนตั้งแต่อายุน้อยๆ หรือหลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อเอชพีวีมากขึ้น

3. สูบบุหรี่จัด ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลงซึ่งรวมทั้งบริเวณปากมดลูกด้วย

4. มีบุตรจำนวนมาก

5. ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)

6. ไม่เคยตรวจภายใน


สำหรับมะเร็งปากมดลูก ก็เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ คือ ไม่มีอาการแรกเริ่ม แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น จะมีอาการดังนี้

1. เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ สวนล้างช่องคลอด หรือตรวจภายใน

2. เลือดออกทางช่องคลอดที่มิใช่รอบประจำเดือน หรือหลังจากหมดประจำเดือนไปนานแล้ว

3. ตกขาวมากขึ้น มีกลิ่นเหม็น

4.ปวดท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน

หากมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติโดยเร็ว

         ปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกขึ้น เพื่อช่วยเหลือสตรีทั่วโลก แม้จะป้องกันไม่ 100 % แต่ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ดีสำหรับการป้องกันในขณะนี้

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

          เป็นที่ทราบกันดีว่า มะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งในธรรมชาติมีอยู่กว่า 100 ชนิด แต่ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมีประมาณ 15 ชนิด โดยเชื้อเอชพีวี 16 และ 18 เป็นสาเหตุร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูก ที่เหลือร้อยละ 30 เกิดจากไวรัสเอชพีวีชนิดอื่น ๆ และด้วยวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถสังเคราะห์ส่วนเปลือกของไวรัสเอชพีวีโดยที่ไม่มีส่วนแกนในซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เปลือกของไวรัสถูกนำมาใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีซึ่งได้รับการยืนยันจากการศึกษาต่าง ๆ ในมนุษย์ว่า วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี และโรคที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชนิดนี้


          วัคซีนเอชพีวีในท้องตลาดปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิด จาก 2 บริษัท บริษัทแรกจะมีเชื้อเอชพีวี 16,18 ส่วนอีกบริษัท มี 16, 18 และเพิ่มอีก 2 ตัว คือ 6,11 ซึ่งสามารถป้องกันโรคหูดหงอนไก่ได้ กล่าวคือเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีที่อยู่ในวัคซีน ซึ่งสามารถป้องกันการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 70 (เชื้อ HPV 16 และ 18 เป็นสาเหตุร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูก) มิใช่ร้อยละ100 จึงต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกต่อไป สำหรับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนอื่น ๆ คือ อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ส่วนอาการตามระบบ เช่น ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย หรือมีไข้ พบได้เล็กน้อย และไม่พบอาการรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิต


          การฉีดวัคซีนเอชพีวี ควรฉีด 3 เข็ม โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เข็มที่สอง ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน เข็มที่สาม ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน ช่วงอายุที่แนะนำ คือ อายุระหว่าง 9-26 ปี วัคซีนนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อฉีดในเด็กผู้หญิงหรือสตรีที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ สำหรับสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว วัคซีนนี้จะมีประสิทธิภาพสูงเมื่อฉีดในสตรีที่ยังไม่มีการติดเชื้อเอชพีวี และไม่มีเซลล์ผิดปกติของปากมดลูก ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดต่ำลงถ้าฉีดในสตรีที่มีการติดเชื้อเอชพีวีหรือมีเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกแล้ว ดังนั้น สตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วและอยากฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ และขอคำแนะนำเพื่อให้การฉีดวัคซีนนั้นได้ผลคุ้มค่ามากที่สุด สำหรับสตรีที่มีอายุมากกว่า 26 ปี ขณะนี้กำลังมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนในสตรีที่มีอายุมากจนถึงอายุ 55 ปี และในอนาคตอันใกล้นี้คงจะได้รับคำตอบว่า ควรจะขยายช่วงอายุของการฉีดวัคซีนในสตรีอายุมากหรือไม่


ด้วยเหตุนี้จึงมีคำถามที่มักได้ยินกันว่า

“เชื้อเอชพีวีนี้สามารถติดต่อได้ตามห้องน้ำสาธารณะหรือไม่? ”

“สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ มีลูกมานานแล้ว จะได้รับประโยชน์จากการฉีดไหม ?” และ “ราคาเต่อเข็มท่าไหร่?”

          คำถามเหล่านี้มีคำตอบครับ คำถามแรก โอกาสติดเชื้อมีน้อยมาก ส่วนข้อสอง ยังได้ประโยชน์ แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนอาจจะลดลง ถ้าสตรีผู้นั้นมีการติดเชื้อเอชพีวีหรือมีเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกแล้ว และคำถามสุดท้ายที่หลายคนอยากรู้ ราคาต่อเข็ม ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาล ถ้าเป็นของรัฐจะถูกกว่าของเอกชน สนนราคาอยู่ที่ 4,000 – 5,000 บาท

          อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งปากมดลูก ยังเป็นอันตรายและศัตรูร้ายสำหรับคุณผู้หญิงทั่วโลก แต่ สามารถป้องกันหรือตัดไฟแต่ต้นลมได้ทันท่วงที โดยฉีดวัคซีนป้องกัน หรือตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี

 
เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น