วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน ทำอย่างไรจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

ทำอย่างไรจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

ผศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



ความสำคัญของการป้องกันโรคภูมิแพ้

          อุบัติการของโรคภูมิแพ้จากการสำรวจทั่วโลก และการสำรวจในประเทศไทยเอง พบว่า เพิ่มขึ้น 3 – 4 เท่า ภายในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ประเทศไทยมีอุบัติการของโรคภูมิแพ้โดยเฉลี่ยดังนี้ คือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 23-30, โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหืด ร้อยละ 10-15, โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ร้อยละ 15 และโรคแพ้อาหาร ร้อยละ 5 โดยอุบัติการในเด็กจะสูงกว่าในผู้ใหญ่

 
          โรคภูมิแพ้นั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนปกติ เช่น ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ, เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ, ริดสีดวงจมูก, หูชั้นกลางอักเสบ, นอนกรน, ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, ผิวหนังติดเชื้อ


          สาเหตุของโรคภูมิแพ้เกิดจาก กรรมพันธุ์ และ สิ่งแวดล้อม โดยพบว่าถ้าบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50 แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะมีผลให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70 ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียงร้อยละ 10 เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัจจัยทางกรรมพันธุ์ได้ การควบคุมสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา ตลอดจนการรับประทานอาหารที่เหมาะสม จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ในบุตรได้

ทำไมการรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

          เนื่องจากโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และมีการศึกษาที่แสดงว่า สิ่งแวดล้อมและอาหารเป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้ ดังนั้นการกำจัดและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ตั้งแต่แรกในเด็กที่เกิดในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ (ซึ่งเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงสูง) และการให้เด็กดื่มนมมารดาจะสามารถป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีโรคภูมิแพ้ร่วมกันหลายชนิด เช่นเด็กที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนังอาจพบมีการแพ้อาหารร่วมด้วย ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะสามารถลดอัตราการเกิดของการแพ้อาหารได้ การดื่มนมมารดาหรือนมสูตรพิเศษ (extensively hydrolyzed formula หรือ partially hydrolyzed formula) ซึ่งเป็นนมที่มีการสลายโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ นอกจากนี้การดื่มนมที่ผสมจุลินทรีย์สุขภาพ (probiotic bacteria) เช่น แลคโตบาซิลลัส และบิฟิโดแบคทีเรียม ซึ่งเป็น จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันและลดอัตราการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังได้

 
รับประทานอย่างไรจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

          เด็กที่มีประวัติครอบครัวที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมและรับประทานอาหารที่มีโปรตีนซึ่งก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ง่าย โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

• ดื่มนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่ต้องจำกัดอาหารเป็นพิเศษสำหรับมารดาช่วงระยะตั้งครรภ์และให้นมบุตร

• กรณีที่ไม่สามารถให้นมมารดาได้ ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมสูตรพิเศษจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี

• ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมวัว และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี

• ไม่แนะนำให้ดื่มนมถั่วเหลือง นมแพะ นมแกะ ทั้งนี้เนื่องจากมีโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้เช่นเดียวกับการแพ้นมวัว

• ควรให้อาหารเสริมเมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือน โดยแนะนำให้เด็กรับประทานอาหารเสริมทีละชนิด และสังเกตว่ามีการแพ้อาหารที่ให้หรือไม่ภายในหนึ่งสัปดาห์ ก่อนที่จะให้อาหารเสริมชนิดใหม่ อาหารเสริมที่ทำให้เกิดอาการแพ้น้อย ได้แก่ ข้าวบด กล้วยน้ำว้า ฟักทอง น้ำต้มหมู น้ำต้มไก่ ผักใบเขียว

• ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่และอาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ จนกระทั่งเด็กมีอายุ 2 ปี

• ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วและปลาจนกระทั่งเด็กมีอายุ 3 ปี

 
          สำหรับเด็กที่ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ ควรดื่มนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่จำเป็นต้องงดอาหารบางอย่างที่แพ้ง่าย (เช่น ไข่ ถั่ว ปลา) อาจเพิ่มสารอาหารอื่นๆ ที่อาจเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ ได้แก่ สังกะสี วิตะมินเอ ซิลีเนียม และนิวคลีโอไทด์ นอกจากนั้น การบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัวบางชนิดเช่น docosahexaenoic acid (DHA) ในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

          นอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ไรฝุ่น, สัตว์เลี้ยง, เชื้อรา, แมลงสาบ ตั้งแต่ขวบปีแรก โดย

• ใช้เครื่องเรือนน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน

• งดใช้พรมปูพื้น ไม่ใช้เก้าอี้นอนหรือเครื่องเรือนที่บุด้วยผ้า ไม่ใช้ที่นอนหรือหมอนที่ทำด้วยนุ่น หรือขนสัตว์ ควรใช้ชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์หรือฟองน้ำ ควรคลุมที่นอน และหมอนด้วยผ้าพลาสติก หรือผ้าไวนิล หรือผ้าหุ้มกันไรฝุ่น

• ไม่สะสมหนังสือหรือของเล่นที่มีขน

• ซักผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน, ปลอกหมอน, ผ้าห่มทุก 1-2 สัปดาห์ โดยใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง

• ดูดฝุ่น เช็ดถูทำความสะอาดพื้นและเครื่องเรือน เพื่อขจัดฝุ่นละอองเป็นประจำ

• ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขน เช่น สุนัข แมว ภายในบ้าน

• พยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบภายในบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อรา ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สด หรือแห้งไว้ในบ้าน

• จัดเก็บขยะและเศษอาหารให้มิดชิด เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงสาบ

 
          การปฏิบัติตังดังกล่าว และระวังไม่ให้เด็กได้รับควันบุหรี่, ควันจากท่อไอเสีย, ควันไฟ, ฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ ตั้งแต่อายุน้อยๆ สามารถป้องกันโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจได้


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

บทความจาก Siriraj ตอน เยื่อแก้วหูอักเสบเฉียบพลัน

เยื่อแก้วหูอักเสบเฉียบพลัน

ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 



          การอักเสบของเยื่อแก้วหู อาจพบได้โดยเป็นการอักเสบที่เยื่อแก้วหูอย่างเดียว หรือพบร่วมกับการอักเสบติดเชื้อของหูชั้นนอก /หูชั้นกลางก็ได้ อาจเกิดภายหลังการบาดเจ็บ(เช่น การแคะหู เขี่ยหู)หรือภายหลังการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ใหญ่หรือเด็กก็เป็นได้สาเหตุอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย(เช่น Hemolytic streptococcus),pneumococci,mycoplasma pneumoniae หรือไวรัส (เช่น influenza)

 
อาการ

1. ปวดหู เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นอาการสำคัญที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ อาการปวดอาจจะรุนแรงหรือไม่ก็ได้ ผู้ป่วยเด็กถ้าปวดมักจะร้องตลอดเวลา ไม่ยอมหลับ มักปวดตอนกลางดึก อาจมีของเหลวไหลออกมาจากช่องหู

2. ไข้ ผู้ป่วยอาจมีไข้ หรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้

3. หูอื้อ ผู้ป่วยอาจรู้สึกตื้อ ๆ ในช่องหูคล้ายได้ยินไม่ค่อยชัด

 
อาการแสดง

          เยื่อบุแก้วหูส่วนที่มีการอักเสบจะมีสีแดง เนื่องจากมีเลือดมาคั่งบริเวณดังกล่าวมากกว่าปกติ ในผู้ป่วยบางรายอาจพบตุ่มน้ำบนเยื่อบุแก้วหู น้ำที่ขังอยู่ในตุ่มน้ำมักมีสีเหลือง ถ้าเส้นเลือดภายในแตกอาจมีสีแดงอ่อนได้


การรักษา

1. ยาต้านจุลชีพ:ในรายที่สงสัยว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ควรรับประทานยาต้านจุลชีพอย่างน้อย 1 สัปดาห์ แต่ถ้าสงสัยว่าเกิดจากเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ การอักเสบของเยื่อบุแก้วหูดังกล่าวมักหายได้เอง

2. ยาหยอดหู:ถ้าสงสัยว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาจหยอดยาหยอดหูที่มีส่วนผสมของยาต้านจุลชีพ และเลือกยาหยอดหูที่มีส่วนผสมของยาชาด้วย เพื่อลดอาการปวด

3. ยาแก้ปวด และลดไข้ หรือบรรเทาอาการ



          ถ้าผู้ป่วยมีตุ่มน้ำบนเยื่อแก้วหู ตุ่มน้ำดังกล่าว มักจะแตกออกได้เองประมาณ 2-3 วันหลังเกิดโรค ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดมาก อาจเจาะตุ่มน้ำให้แตกออก เพื่อลดอาการปวดได้


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

บทความจาก Siriraj ตอน เลือกรองเท้าอย่างไร ให้เหมาะกับสุขภาพเท้า

เลือกรองเท้าอย่างไร ให้เหมาะกับสุขภาพเท้า

ผศ.พญ.นวพร ชัชวาลพาณิชย์
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



          เท้าเป็นอวัยวะสำคัญ ที่คนเราควรใส่ใจเป็นอันดับต้น ๆ ของชีวิต แต่ถ้าคุณทำร้ายด้วยการสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม คุณเองนั่นแหละจะโดนเท้าทิ้งให้อยู่ตามลำพัง แค่ฟังก็หนาวแล้วใช่ไหมคะ นี่จึงเป็นที่มาของการสนทนาในวันนี้ “เลือกรองเท้าอย่างไร ให้เหมาะกับสุขภาพเท้า”

เข้าใจเท้า

          รองเท้าที่เหมาะสมนั้นมีหลักนิดเดียว คือใส่แล้วสบาย เดินได้ทั้งวัน แต่ถ้ารองเท้าที่คุณสวมใส่ไม่เหมาะสม เช่น ใส่รองเท้าหน้าแคบหรือรองเท้าส้นสูง อาจทำให้เกิดอาการปวดเท้าหรือมีความผิดปกติกับรูปเท้า เนื่องจากเท้าถูกบีบรัด ที่พบบ่อยคือ อาการหัวแม่เท้าเกหรือบิดเข้าสู่นิ้วชี้มากไป จนบางทีเกิดการซ้อนทับ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการรับน้ำหนักที่ไม่เหมาะสมและปวดเท้านั่นเอง ถ้าคุณมีอาการปวดเท้าอยู่แล้ว แต่ยังเลือกสวมรองเท้าไม่เหมาะสมก็อาจส่งผลให้มีอาการปวดเท้าเรื้อรังต่อไปได้อีก เพราะรองเท้านั้นสำคัญ จึงควรเลือกรองเท้าให้เหมาะกับเท้า เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียภายหลัง ดังนี้

เลือกซื้อรองเท้า

          - ช่วงบ่ายเหมาะสมที่สุด ถ้าคุณต้องเดินในช่วงกลางวัน ควรเลือกซื้อรองเท้าช่วงบ่าย ๆ เพราะเท้าจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อผ่านการเดินมาตลอดทั้งวัน เนื่องจากเลือดไหลเวียนลงสู่เท้ามากขึ้น จึงเหมาะที่จะเลือกรองเท้า เพื่อป้องกันปัญหารองเท้าคับ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและชีวิตประจำวันด้วย

           - เลือกคู่ที่ขนาดเหมาะสม คือส้นเท้าจะชิดส้นรองเท้าพอดี และส่วนหัวรองเท้าจะเหลือพื้นที่เท่ากับความกว้างของหัวแม่โป้งมือเมื่อวัดจากนิ้วเท้าที่ยาวที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนิ้วหัวแม่เท้าเสมอไป และส่วนที่กว้างที่สุดของรองเท้าควรตรงและพอดีกับตำแหน่งที่กว้างที่สุดของเท้า

           - ใส่แล้วนิ่มสบาย เลือกรองเท้าที่ไม่มีตะเข็บแข็ง รองเท้าที่ทำจากหนังแท้มักมีความยืดหยุ่นและระบายอากาศดีกว่าหนังเทียม

          - ลองก่อนเสมอ เท้าคนเราสองข้างไม่เท่ากัน จึงควรลองรองเท้าทั้งสองข้างและเดินไปมาด้วยว่าสบายเท้าหรือไม่

          - เผื่อที่กันคับ อุปกรณ์เสริมในรองเท้าต่าง ๆ เช่น แผ่นรองเท้า แผ่นกันรองเท้ากัด ฯลฯ จะทำให้รองเท้าของคุณคับขึ้น หากต้องใช้อุปกรณ์เหล่านั้นควรเลือกรองเท้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย

          - ไม่คีบดีกว่า การใส่รองเท้าคีบทำให้เกิดการเสียดสีบริเวณร่องนิ้วเท้า ไม่เหมาะในบางคนที่เท้าชา ซึ่งอาจเกิดแผลโดยไม่รู้ตัว

          - แบนไปไม่ดี ความแบนราบของพื้นรองเท้า ไม่เหมาะกับสรีระเท้าต่อการรับน้ำหนัก ดังนั้นหากใส่รองเท้าแตะ ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่มและเสริมบริเวณอุ้งเท้าจะดีกว่า

          - รองเท้าสองชั่วโมง การใส่ส้นสูงนาน ๆ อาจมีปัญหาปวดฝ่าเท้าส่วนหน้า ผิวฝ่าเท้าบริเวณดังกล่าวอาจด้านและแข็งเป็นไตเพราะต้องรับน้ำหนักมาก ดังนั้นควรใส่ส้นสูงเมื่อจำเป็น เช่น ออกงานกลางคืน และไม่ควรใส่นานเกิน 2–3 ชั่วโมง

รองเท้าที่เหมาะสมในแต่ละคน

          - นักกีฬา ควรเลือกซื้อรองเท้ากีฬา หลังจากเดินสักพักหรือหลังจากเล่นกีฬาเสร็จ เพราะเท้าจะมีขนาดเดียวกันกับขณะเล่นกีฬา ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่ม และมีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับแรงกระแทกได้ดี หากกีฬาที่เล่นใช้ปลายเท้าเป็นส่วนมาก เช่น การวิ่ง ควรเลือกรองเท้าที่ออกแบบให้รองรับแรงกระแทกส่วนหน้าโดยเฉพาะ

          - คนเท้าแบน มีทั้งแบบถาวรและชั่วคราว ฝ่าเท้าแบนทำให้ปวดบริเวณกลางฝ่าเท้า เนื่องจากเอ็นซึ่งทำหน้าที่ยกอุ้งเท้าถูกดึงยึด ดังนั้นหากคุณเป็นคนฝ่าเท้าแบนชั่วคราว(คือเท้าแบนเมื่อเหยียบพื้นเท่านั้น)ควรสวมรองเท้าที่เสริมอุ้งเท้า(บริเวณพื้นรองเท้าด้านในช่วงกลางที่นูนขึ้น)เพื่อช่วยเส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้า มีที่หุ้มด้านข้างและหลังเท้า เพื่อพยุงไม่ให้ส้นเท้าบิดและเท้าล้มเข้าด้านใน แต่หากฝ่าเท้าแบนถาวร ซึ่งมักมีเท้าส่วนกลางกว้างกว่าปกติ ควรเลือกรองเท้าที่ด้านข้างกว้าง และมีพื้นนิ่มใส่สบาย

          - คนอุ้งเท้าสูง จะมีปัญหาปวดบริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้า เพราะการรับน้ำหนักของอุ้งเท้าส่วนกลางหายไป รองเท้าจึงควรมีลักษณะเสริมอุ้งเท้าส่วนกลาง(ยกนูนช่วงกลางฝ่าเท้าและเสริมอุ้งเท้า)เพื่อช่วยกระจายน้ำหนักจากฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้ามาที่อุ้งเท้า ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่มและมีความยืดหยุ่น

          - คนปวดส้นเท้า การปวดส้นเท้าส่วนใหญ่เกิดจาก จุดยึดพังผืดบริเวณส้นเท้าอักเสบ ซึ่งมักปวดมากใน   การเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน เพราะพังผืดถูกยืดทันทีทันใด รองเท้าที่เหมาะกับปัญหานี้ ควรมีพื้นนิ่ม มีส้นเล็กน้อยเพื่อถ่ายน้ำหนักไปยังเท้าส่วนหน้า การใส่รองเท้าที่มีการเสริมอุ้งเท้า และนวดฝ่าเท้าก่อนลุกจากเตียง รวมถึงการบริหารยืดเอ็นร้อยหวายซึ่งทำได้โดย นั่งเหยียดขาข้างที่ต้องการยืดไปด้านหน้า และใช้ผ้าคล้องที่ปลายเท้าเอาไว้ ขาอีกข้างชันเข่าขึ้น และออกแรงดึงปลายผ้าทั้งสองข้างเข้าหาตัวจนรู้สึกว่าน่องตึง ค้างไว้ 10 วินาที นับเป็น 1 ครั้ง ทำวันละ 10-15 ครั้ง จะช่วยลดการปวดเท้าและลดการเกิดอาการช้ำได้

          - คนปวดฝ่าเท้าด้านหน้า ปัญหานี้พบบ่อยในผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ และผู้ที่มีภาวะหัวแม่เท้าเก ซึ่งหัวแม่เท้าไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ภาระจึงตกอยู่กับฝ่าเท้าบริเวณนิ้วชี้ถึงนิ้วก้อย เมื่อรับน้ำหนักนาน ๆ จึงทำให้ปวด ดังนั้นผู้ที่มีอาการนี้จึงควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย มีพื้นนิ่ม และมีหน้ารองเท้ากว้าง เพื่อลดการบีบและเสียดสีของเท้า

          - คนเป็นเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานมักมีปลายประสาททำงานผิดปกติ ทำให้เท้าชา มีนิ้วเท้าหงิกงอ ทำให้ฝ่าเท้าด้านหน้ารับน้ำหนักมากและนิ้วเท้าเสียดสีกับหัวรองเท้า จึงควรเลือกใส่รองเท้าพื้นนิ่ม มีหัวลึกและกว้าง ห้ามใช้รองเท้าคีบ เพราะอาจทำให้เกิดแผลบริเวณร่องนิ้วเท้าได้โดยไม่รู้ตัว

รักษาสุขภาพเท้า

1. หลังจากเท้าต้องทำงานมาทั้งวัน การแช่เท้าในน้ำอุ่น หรือนวดฝ่าเท้าจะช่วยผ่อนคลายความตึงล้าของกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ในเท้าได้ แต่ห้ามใช้ในผู้เป็นเบาหวานซึ่งมีผิวเท้าแห้ง เพราะการแช่น้ำทำให้ผิวแห้งมากขึ้น และห้ามใช้ในผู้ที่มีเท้าชา เพราะทำให้ไม่รู้ตัวว่าน้ำนั้นร้อนเกินไป อาจทำให้เท้าพองได้

2. ออกกำลังกายช่วยบริหารข้อเท้า และกล้ามเนื้อเท้าอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และกระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาสู่ปลายเท้า วิธีบริหารเริ่มจาก

          - กระดูกข้อเท้าขึ้นและลงสลับกันช้า ๆ

          - หมุนข้อเท้า โดยหมุนเข้าและหมุนออกช้า ๆ

          - ใช้นิ้วเท้าจิกผ้าที่วางอยู่บนพื้นเพื่อบริหารกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ในเท้า

          - นั่งยกขาขึ้น เหยียดเข่าตึง แล้วกระดกข้อเท้าขึ้นค้างไว้นับ 1–6 ในใจ ถือเป็น 1 ครั้ง

          ถ้าเลือกรองเท้าดีแล้วแต่ยังมีอาการปวดเท้าอักเสบขึ้นมา สามารถรับการตรวจรักษา ได้ที่ คลินิกสุขภาพเท้า โรงพยาบาลศิริราช โทร.0 2419 7504


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

บทความจาก Siriraj ตอน การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

(Allergy Skin Test)

ผศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล





          การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง คือ การนำน้ำยาสกัดจากสารภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในอากาศ เช่น ฝุ่นบ้าน ตัวไรในฝุ่น แมลงสาบ เกสรหญ้า วัชพืช เชื้อรา เป็นต้น มาทำการทดสอบที่ผิวหนังของผู้ป่วย เพื่อทำให้ทราบว่าแพ้สารใด วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ที่มีความไวและความจำเพาะสูง ทำง่าย และราคาไม่แพง สามารถทราบผลได้ทันที ผู้ป่วยสามารถเห็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นด้วยตาของตนเอง


การทดสอบมี 2 วิธีคือ

1.วิธีสะกิด (Skin Prick Test) เป็นการทดสอบโดยหยดน้ำยาลงบนผิวหนังที่แขนและใช้เข็มสะกิดลงบนปลายหยดน้ำยา ซึ่งทำง่าย เร็ว ไม่เจ็บและใช้อุปกรณ์น้อย เสี่ยงต่อการแพ้ทั่วร่างกายน้อย

2. วิธีฉีดเข้าผิวหนัง (Intradermal Test) เป็นการฉีดน้ำยาเข้าผิวหนังเป็นจุดเล็กๆ ซึ่งทำยากกว่าและเสียเวลามากกว่า เจ็บกว่าและใช้อุปกรณ์มากกว่า และทั้งเสี่ยงต่อการแพ้ทั่วร่างกายได้มากกว่า

ก่อนการทดสอบ ผู้ทดสอบจะได้คำแนะนำงดยารับประทานบางชนิดตามระยะเวลาที่กำหนด

          การทดสอบ จะเริ่มด้วยวิธีสะกิดก่อน เป็นการตรวจคัดกรอง (screening test) เพื่อดูว่าผู้ป่วยแพ้รุนแรงมาก-น้อยเพียงใด ถ้าผู้ป่วยให้ผลบวกชัดเจนต่อน้ำยาสกัดสารภูมิแพ้ชนิดใดแล้วไม่จำเป็นต้องทดสอบด้วยวิธีฉีดเข้าผิวหนังอีก แต่ถ้าการทดสอบโดยสะกิดให้ผลลบ จึงทดสอบด้วยวิธีฉีดเข้าผิวหนังเป็นลำดับต่อไป

          โดยทั่วไปการทดสอบจะใช้น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ประมาณ 10-20 ชนิด และจะอ่านผลการทดสอบใน 15-20 นาที ถ้าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดจะเกิดรอยนูนและมีผื่นแดงๆรอบๆอาจรู้สึกคันเล็กน้อยตรงจุดนั้น เจ้าหน้าที่จะวัดขนาดของรอยนูน บันทึกไว้ และแพทย์จะอธิบายให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้อะไร

          หลังจากนั้น 24 ชั่วโมง ถ้ายังมีผื่นแดงที่สดสอบภูมิแพ้นั้น ผู้ป่วยต้องวัดขนาดผื่นแดงและบันทึกไว้เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบในวันที่นัดครั้งต่อไป ผื่นนั้นจะค่อยๆหายไปเอง


ประโยชน์ของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

1.ทำให้ทราบว่าโรคที่ผู้ป่วยเป็น มีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้

2. ทำให้ผู้ป่วยทราบว่าตนเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด และมากน้อยเพียงใด

3. ผู้ป่วยสามารถกำจัด หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ตนแพ้ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการของโรคอื่นขึ้นได้

4. ถ้าจำเป็นต้องรักษาโดยการฉีดวัคซีน แพทย์จะใช้ผลการทดสอบภูมิแพ้นี้เป็นข้อมูลในการสั่งวัคซีน

สำหรับฉีดให้ผู้ป่วย


ข้อควรระวังในการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

          สำหรับผู้ป่วยที่แพ้มาก อาจเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกายเช่นเดียวกับการแพ้ยาฉีดชนิดอื่น ได้แก่ การมีผื่นคัน ลมพิษทั้งตัว แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หอบหืด และความดันโลหิตต่ำมากได้ แต่อาการเหล่านี้พบได้น้อยมาก 

          หลังการทดสอบ ต้องนั่งพักรอดูอาการอย่างน้อย 30 นาที จึงกลับบ้านได้


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน แผลเป็น

แผลเป็น

ผศ.นพ.สรวุฒิ ชูอ่องสกุล
สาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



คำถามที่ 1 แผลเป็นมีกี่ชนิด

แผลเป็นมีหลายรูปแบบ แต่แผลเป็นที่ถือว่าผิดปกตินั้นจะแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

1.แผลเป็นที่โตนูน แผลเป็นที่โตนูนมี 2 แบบคือ

          - แผลเป็นนูนเกิน หรือ hypertrophic scar : เป็นแผลเป็นที่โตนูน แต่ไม่เกินขอบเขตของแผลเดิม ในระยะแรกจะมีลักษณะนูน แดง คัน

          - แผลเป็นคีลอยด์ : เป็นแผลเป็นที่โตนูน และขยายใหญ่เกินขอบเขตของแผลเดิมไปมาก

2.แผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปที่เรียกว่า depressed scar มีลักษณะเป็นร่อง หรือรูบุ๋มลึกลงไปใต้ผิวหนัง

3.แผลเป็นที่มีการหดรั้งร่วมด้วย เรียกว่า scar contracture : แผลเป็นชนิดนี้จะดึงรั้งอวัยวะบริเวณแผลให้ผิดรูปได้

          แผลเป็นทั้งสามลักษณะนี้อาจจะมีผิวสีซีดที่เรียกว่า hypopigmentation หรือผิวสีเข้ม hyperpigmentation ก็ได้



คำถามที่ 2 hypertrophic scar เกิดจากอะไร

          จริงๆแล้วยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าทำไมบางคนถึงเกิด hypertrophic scar หรือแผลเป็นนูนเกิน แต่สาเหตุอาจจะพบได้จากการที่แผลเกิดในตำแหน่งที่ความตึงมาก เช่น บริเวณข้อต่อหรือกลางหน้าอก เป็นต้น แผลเป็นนูนเกินนี้มักจะพบได้มากในช่วงระยะ 6 เดือนแรก หลังจากนั้นก็จะค่อยๆยุบลง และจะกลับเข้าสู่แผลเป็นคงที่ (stable scar) มีลักษณะใกล้เคียงแผลเป็นปกติในช่วงประมาณ 1 ปีภายหลังเกิดแผล



คำถามที่ 3 แผลเป็นคีลอยด์เกิดจากอะไร

          จริงๆก็ยังไม่ทราบสาเหตุของแผลเป็นคีลอยด์ แต่พบว่ามักจะเกิดในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม ในตำแหน่งที่เกิดได้บ่อย ได้แก่ หัวไหล่ ติ่งหูและกลางหน้าอก ส่วนหนึ่งพบในผู้ป่วยที่มีประวัติทางพันธุกรรม คือ มีประวัติการเกิดคีลอยด์ในพ่อหรือแม่ แผลเป็นคีลอยด์นี้เชื่อว่าเกิดจากการที่แผลเป็นมีการสร้างสารที่เรียกว่าคอลลาเจนมากเกินกว่าปกติ



คำถามที่ 4 เราจะป้องกันได้อย่างไร

          การป้องกันการเกิดแผลเป็นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการที่มีแผลใหม่ๆ เราจะเริ่มโดยการแนะนำให้ผู้ป่วยนวด หรือการกดบริเวณนั้นๆ โดยทั่วไปแล้วการนวดอย่างสม่ำเสมอในระยะประมาณ 3-6 เดือนแรก เป็นเรื่องสำคัญ และจะช่วยให้แผลเป็นนั้นลดการขยายตัวและนูนเกินได้ ในบางครั้งแผลเป็นที่มีขนาดใหญ่กว้าง เช่นแผลเป็นที่เกิดจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก อาจจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือพิเศษหรือผ้ารัดหรือ pressure garment

          pressure garment นี้จะต้องสวมใส่เพื่อที่จะรัดบริเวณที่เกิดแผลเป็น เช่น ใบหน้า ลำตัว และแขน ขา ในช่วงระยะประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีแรกหลังจากได้รับอุบัติเหตุ

          การนวดก็จะสามารถลดการเกิดแผลเป็นได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในช่วงระยะแรกที่แผลเป็นมีการอักเสบอยู่ การนวดก็จะช่วยลดไม่ให้แผลเป็นมีการขยายใหญ่โตได้



คำถามที่ 5 การรักษามีกี่วิธี

หากพบว่ามีแผลเป็นเกิดขึ้นแล้ว จะเริ่มจากการรักษาโดย

          - วิธีที่ 1 คือวิธีอนุรักษ์หรือว่า conservative ก่อน โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่าเกิน 95 % รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด วิธีที่แนะนำให้ใช้วิธีแรกคือ การใช้แผ่นซิลิโคนปิด แผ่นซิลิโคนนี้จะเป็นแผ่นเจลใสๆที่ทำมาจากซิลิโคน เราสามารถปิดไว้บนบาดแผล หลังจากบาดแผลหายดีแล้วประมาณ 7 วัน การปิดแผลนี้แนะนำให้ปิดตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งข้อดีจะทำให้บริเวณผิวหนังที่อยู่ใต้แผ่นซิลิโคนนี้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้ลดการอักเสบได้

          - วิธีที่ 2 เนื่องจากว่าบางครั้งเราพบว่าการปิดด้วยซิลิโคนอาจจะไม่สะดวก การใช้แผ่นเทปเหนียว หรือว่า microporous tape ก็จะสามารถทดแทนได้เช่นเดียวกัน แผ่นเทปเหนียวนี้สามารถใช้ปิดลงบนบาดแผลได้โดยตรง และจะทำให้ผิวหนังบริเวณใต้ต่อเทปนี้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้มีการอักเสบลดน้อยลง

          - วิธีที่ 3 การฉีดยาด้วยยาสเตียรอยด์ จะลดการอักเสบของการเกิดเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ได้ ยาที่แนะนำคือ Triamcinolone acetonide ซึ่งเป็นยาฉีดเฉพาะที่ สามารถลดการอักเสบ วิธีการรักษาคือฉีดยาเข้าไปในแผลเป็นโดยตรง แต่ก็อาจทำให้มีอาการเจ็บได้พอสมควรในระหว่างการฉีดยา จะแนะนำให้ฉีดแผลเป็นนี้ในช่วงระยะประมาณไม่เกิน 1 ปีแรกหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่แล้วจะนัดมาฉีดประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งความถี่ในการฉีดขึ้นอยู่กับการตอบสนองของยาว่าเป็นอย่างไร

          - วิธีที่ 4 คือการผ่าตัด การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับรูปแบบของแผลเป็นนั้น ถ้าเป็นกรณีที่เกิดเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ เราก็อาจจะใช้วิธีตัดออก หรือว่าลดขนาดลงบางส่วน วิธีนี้อาจจะใช้ร่วมกับการรักษาโดยวิธีอื่น เช่น การฉีดยา หรือการปิดด้วยแผ่นซิลิโคนก็ได้ การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธี อาจจะใช้วิธีตัดออกโดยตรงแล้วเย็บปิดเป็นเส้นตรง หรืออาจจะตัดออกเป็นรูปซิกแซก เพื่อที่จะให้แผลเป็นที่เกิดขึ้นใหม่มีลักษณะใกล้เคียงกับรอยย่นตามผิวหนัง


          การผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งคือการลดขนาดของแผลเป็น วิธีนี้เราจะใช้วิธีการตัดแผลเป็นออกบ้างบางส่วน โดยจะไม่ตัดออกทั้งหมด หลังจากนั้นจะนัดผู้ป่วยมาเพื่อติดตามผลการรักษา หากแผลเป็นมีขนาดเล็กลงอาจจะนัดมาตัดซ้ำอีกครั้ง เรียกว่าการตัดแบบทีละน้อย หรือ serial excision วิธีการผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งคือการใช้วิธีขัดกรอผิวหนัง หรือว่า dermabrasion การขัดกรอผิวหนังนี้จะใช้ในกรณีที่มีแผลเป็นที่รอยขรุขระหรือไม่เรียบหรือเป็นรอยบุ๋ม แผลเป็นนี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากสิวอักเสบหรือโรคสุกใส การใช้หัวกรอหรือใช้แสงเลเซอร์ยิงบริเวณที่รอยขรุขระนี้ เพื่อจะปรับสภาพผิวให้ราบเรียบขึ้น แต่ข้อควรระวังคืออาจจะเกิดมีการเกิดผิวสีเข้มหรือ hyperpigmentation บริเวณนั้นได้


          การรักษาแผลเป็นนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาดูว่าแผลเป็นนั้นเป็นแผลเป็นนูนชนิดใด หากเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ จะต้องพิจารณาการรักษาอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นอาจจะมีแผลเป็นใหญ่โตเกินกว่าขนาดเดิมได้ โดยทั่วไปแล้วแผลเป็นมักจะสามารถป้องกันได้ เพราะฉะนั้นหากเรารู้จักวิธีการดูแลรักษาภายหลังจากที่ได้รับแผลเป็นใหม่ๆ ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้แผลเป็นนั้นนูนเกินหรือเป็นคีลอยด์ได้ในอนาคต

 
เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน "กำจัดขนด้วยเลเซอร์" อันตรายหรือไม่

"กำจัดขนด้วยเลเซอร์" อันตรายหรือไม่

รศ.นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ
ศูนย์เลเซอร์ผิวหนังศิริราช
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


          ผิวหนังของคนเราเกือบทุกส่วนจะปกคลุมด้วยเส้นขน ยกเว้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า เส้นขน มีประโยชน์หลายอย่างแตกต่างกันตามตำแหน่ง เช่น ขนบริเวณลำตัวและแขนขา ช่วยควบคุมระดับอุณหภูมิในร่างกาย ขนบริเวณหนังศีรษะมีไว้ปกป้องแสงแดดและเพื่อความสวยงาม ขนบริเวณรักแร้ ลดแรงเสียดสี เป็นต้น แต่ในบางครั้งเส้นขนที่ดกดำมากเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านความสวยงามหรือบุคลิกภาพของคุณได้เช่นกัน เช่น เส้นขนบริเวณหน้าแข้งหรือริมฝีปากของคุณสุภาพสตรี ภาวะความผิดปกติของฮอร์โมนหรือผลข้างเคียงของยาบางประเภทก็สามารถก่อให้เกิดขนขึ้นมากผิดปกติ หรือเกิดขนงอกในบริเวณที่ไม่ควรงอก เช่น โรค Polycystic ovarian syndrome การรับประทานยาประเภทสตียรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกันบางประเภท เป็นต้น การกำจัดขนจึงอาจเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับบางท่าน


การกำจัดขน มี 2 วิธีคือ

1. กำจัดขนแบบชั่วคราว ได้แก่ การโกน ถอน ใช้ด้ายกระตุกซึ่งวิธีการเหล่านี้ นอกจากต้องทำบ่อย ๆ เพราะความที่เป็นวิธีที่ไม่ถาวรแล้ว ยังมักก่อให้เกิดปัญหาของรูขุมขนอักเสบ และขนคุดตามมา

2. กำจัดขนแบบถาวร ในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ

          2.1 วิธี electrolysis คือ การใช้เข็มสอดลงไปที่รากขนทีละเส้นแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าทำลายรากขน วิธีนี้ค่อนข้างเจ็บและเสียเวลานานมาก เพราะต้องสอดเข็มลงไปที่รากขนทีละเส้น และมีโอกาสเสี่ยงกับการเกิดแผลเป็นค่อนข้างสูง เพราะว่าการสอดเข็มลงไปที่รากขนเป็นวิธีการสอดแบบสุ่ม โดยที่ผู้ทำการรักษาไม่ทราบว่ารากขนอยู่ที่ใด

          2.2 วิธีใช้แสงความเข้มสูงและเลเซอร์ เป็นวิธีการกำจัดขนโดยอาศัยพลังงานความร้อนจากแสงไปทำลายรากขน แสงสามารถทำลายรากขนโดยเฉพาะเจาะจง เพราะว่าบริเวณรากขนจะมีเซลล์สร้างสีที่เรียกว่าเมลาโนซัยท์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวนำแสงหรือตัวดูดพลังงานแสงให้มาอยู่เฉพาะบริเวณรากขน


เลเซอร์และแสงความเข้มสูงช่วยกำจัดขนอย่างไร

           เครื่องกำจัดขนสามารถส่งพลังงานแสงไปที่รากขน เซลล์สร้างสีบริเวณรากขนจะทำหน้าที่ดูดรับพลังงานแสง แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนเพื่อทำลายรากขน ความรู้สึกระหว่างกำจัดขนด้วยแสงคล้ายกับหนังยางดีดบนผิวหนัง เป็นความรู้สึกซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ทนความรู้สึกได้ บริเวณผิวหนังอ่อน ๆ เช่น ริมฝีปาก ขาหนีบจะรู้สึกมากกว่าบริเวณอื่น การทายาชาชนิดครีมก่อนการทำเลเซอร์จะช่วยลดความรู้สึกระหว่างการรักษาได้ นอกจากนี้เลเซอร์หลายชนิดมีระบบให้ความเย็นแก่ผิวหนัง ซึ่งสามารถลดอาการเจ็บระหว่างการรักษาได้

เวลาในการกำจัดขน

          ระยะเวลาที่ใช้ขึ้นกับตำแหน่ง เช่น บริเวณรักแร้ใช้เวลาเพียง 2 - 3 นาที ส่วนบริเวณแผ่นหลังหรือหน้าแข้งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง


การรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยใด

          ผลของการรักษาขึ้นอยู่กับสีของขนและสีผิว โดยทั่วไปเส้นขนสีดำเข้มจะได้ผลดีกว่าเส้นขนสีอ่อน คนผิวขาวมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าคนผิวคล้ำ


ต้องกำจัดขนกี่ครั้งถึงได้ผล

          การกำจัดขนด้วยแสงจะทำลายเส้นขนประมาณ 15 -30 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังการรักษา 1 ครั้ง โดยทั่วไปต้องรักษาประมาณ 5 - 8 ครั้ง การรักษามักทำทุก 4 - 6 สัปดาห์


เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังหลังกำจัดขน

          ผิวหนังบริเวณรอบรูขุมขนจะแดงและบวมเล็กน้อยภายในระยะเวลา 30 นาทีภายหลังการรักษา ซึ่งอาการนี้จะหายไปเองภายในเวลา 1 วัน การประคบด้วยความเย็นจะช่วยลดอาการแสบร้อนได้ ผิวหนังภายหลังการรักษาจะไม่เกิดแผล ไม่มีเลือดออก และไม่จำเป็นต้องปิดแผล


ดูแลหลังกำจัดขน

          ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติกิจวัตรประวันได้ตามปกติ เช่น อาบน้ำ และควรใช้ครีมกันแดดทาบริเวณที่ได้รับการรักษา ยกเว้นการใช้สบู่หรือครีมที่ระคายเคืองที่ผิวหนัง เช่น Retin-A,AHA ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการออกแดดสักระยะหนึ่ง


เส้นขนหลังรักษา

           เส้นขนจะค่อยๆ ถูกดันให้หลุดออกจากผิวหนังภายใน 2 สัปดาห์ หลังการรักษา


เตรียมตัวอย่างไรก่อนทำ

          ภายใน 2 สัปดาห์ก่อนทำเลเซอร์ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่จำเป็น ไม่ควรถอนหรือแว็กซ์ขน หากจำเป็นอาจใช้วิธีโกน แต่ควรหยุดโกนขนภายในระยะเวลา 2-3 วัน ก่อนการทำการรักษา



หากท่านมีปัญหาเรื่องขน ติดต่อได้ที่ “ศูนย์เลเซอร์ผิวหนัง” โรงพยาบาลศิริราช ตึก 84 ปี ชั้น 2 โทร. 0 2419 9922, 0 2419 9933 เราช่วยท่านได้ครับ

 
เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน เรามารู้จักเลเซอร์กันเถอะ

เรามารู้จักเลเซอร์กันเถอะ

ภาควิชาตจวิทยา



LASER ย่อมาจาก Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation

          ลำแสงเลเซอร์ แตกต่างจากแสงที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน คือ แสงเลเซอร์เป็นแสงที่มีพลังงานสูงและมีความยาวคลื่นเดียว เดินทางเป็นเส้นตรงให้พลังงานออกมาในทิศทางเดียวกันและเครื่องเลเซอร์สามารถรวมแสง ให้ตกในบริเวณเล็ก ๆ ทำให้พลังงานของแสงเลเซอร์ที่ตกลงบริเวณนั้นสูงมาก

          เลเซอร์ได้ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์ผิวหนังในปี ค.ศ.1963 หลังจากนั้นได้มีการศึกษา และพัฒนาการนำเลเซอร์ชนิดใหม่ ๆ มาใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ซึ่งให้ผลดีและมีความปลอดภัยสูง เลเซอร์มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับโรคของผู้ป่วย การใช้เลเซอร์ผิดประเภท นอกจากจะไม่ได้ผลในการรักษาแล้ว ยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้

          สำหรับภาควิชาตจวิทยา (ผิวหนัง) โรงพยาบาลศิริราช ใช้คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ และ Q-switched Nd:YAG ในการรักษาโรคผิวหนัง เช่น โรคเนื้องอกบางชนิด หูด ไฝ กระเนื้อ โรคของเม็ดสีผิวหนังที่อยู่ในชั้นหนังกำพร้า และชั้นหนังแท้ เช่น ปานดำ ปานโอตะ


โรคผิวหนังที่สามารถรักษาด้วยเลเซอร์

1. โรคเส้นเลือดของผิวหนัง เช่น ปานแดง

2. โรคของเม็ดสีผิวหนัง เช่น ไฝ ปานดำ

3. การลดรอยสัก

4. การรักษาหูด

5. การรักษาแผลเป็น เช่น แผลเป็นจากการผ่าตัดจากอุบัติเหตุ

6. การขัดหน้าลดรอยเหี่ยวย่น

7. การกำจัดขน

 
ข้อดี

1.ไม่ทำลายเนื้อเยื่อที่มีบริเวณรอบ ๆ แผลที่ผ่าตัด

2.โอกาสเกิดแผลเป็น จากการใช้เลเซอร์มีน้อยมาก

3.ลดอัตราการเกิดการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด

4.แผลจะหายเร็วกว่าการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยใบมีด

5.เป็นการผ่าตัดที่มีเสียเลือดหรือเสียงน้อยมาก

6.ลดความเจ็บปวดเนื่องจากแสงเลเซอร์ช่วยปิดปลายเส้นประสาทของเนื้อเยื่อที่ถูกตัดขาด

 
คำแนะนำก่อนทำเลเซอร์

1.ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลให้เข้าใจเกี่ยวกับการทำเลเซอร์เพื่อลดความกลัวและความวิตกกังวล

2.ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวด ในกลุ่มแอสไพรินอย่างร้อย 10 วัน ก่อนวันนัดทำเลเซอร์เพื่อป้องกันการมีเลือดออกง่าย

3.ถ้ามีโรคประจำตัวหรือมีประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ ควรบอกให้แพทย์ทราบก่อนนัดทำเลเซอร์

4.ถ้าผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีผู้ปกครองมาในวันนัดทำผ่าตัด เพื่อเซ็นอนุญาตให้ทำผ่าตัดผู้ป่วยได้

5.ขณะทำเลเซอร์ ผู้ป่วยควรสวมแว่นตากันแสงเลเซอร์ โดยเฉพาะเพื่อป้องกันอันตรายจากแสงเลเซอร์ต่อกระจกตาหรือตาดำได้

6.แผลหลังทำเลเซอร์ไม่ควรให้ถูกแสงแดดโดยตรง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรนำร่มหรือหมวกมาในวันนัดทำเลเซอร์ด้วย

คำแนะนำหลังการทำเลเซอร์

1. แผลขนาดเล็ก เช่น ไฝ สามารถถูกน้ำได้แล้วซับแผลให้แห้งด้วยผ้าสะอาด ควรทำความสะอาดแผลวันละ 2 ครั้ง เช้า ก่อนนอน ด้วยน้ำเกลือ (normal saline) ซับแผลให้แห้งแล้วทาครีมปฏิชีวนะ

2. แผลขนาดใหญ่ เช่น การลบรอยย่น รอยตีนกา ไม่ควรให้แผลถูกน้ำใน 2-3 วันแรก ควรทำความสะอาดแผลวันละ 3-4 ครั้ง เช้า กลางวันเย็นและก่อนนอน โดยประคบแผลด้วยน้ำเกลือ นานครั้งละ 10-15 นาที แล้วทาครีมปฏิชีวนะหรือขี้ผึ้งวาสลิน ควรทำติดต่อกันอย่างน้อย 3-4 วัน หลังผ่าตัดช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น (ไม่ควรใช้ แอลกอฮอล์ เช็ดแผล ที่ทำเลเซอร์)

3. ถ้าพบว่ามีผื่นแดงเกิดขึ้นบริเวณแผลหรือรอบ ๆ แผลหลังทายาปฏิชีวนะ ให้หยุดยาทันทีและมาพบแพทย์ อาจเป็นอาการของการแพ้ยาปฏิชีวนะได้

4. ถ้าแผลมีเลือดออก ให้นั่งหรือนอนแล้วใช้ผ้าสะอาดกดแผลนานประมาณ 20 นาที ถ้าเลือดไม่หยุดไหลให้รีบมาพบแพทย์

5. แผลอาจบวมแดงได้ หลังการทำเลเซอร์โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตา อาจใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณที่บวมนาน 15-20 นาที ไม่ควรประคบที่เดียวนาน ๆ ควรสลับที่กัน ควรทำใน 24 ชั่วโมง แรกหลังผ่าตัด และนอนหนุนหมอนสูงเพื่อช่วยให้ยุบบวมได้เร็วขึ้น อาการบวมจะหายภายใน 3-7 วัน

6. ถ้าปวดแผล ให้รับประทานยาแก้ปวด พาราเซตามอล (paracetamol) 500 มิลลิกรัม 1-2 เม็ดทุก 4-6 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการรับประทานยาพวกแอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกได้ง่าย

7. ในเวลา 2-3 วันแรกหลังผ่าตัดแผลยังไม่หายดี ไม่ควรใช้ครีมล้างหน้า หรือใช้เครื่องสำอางตรงบริเวณแผล เมื่อแผลแห้งสนิทดีแล้วสามารถใช้ยากันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 30 จะช่วยป้องกันแผลไม่ให้เกิดสีคล้ำมากขึ้น

8. หลังทำผ่าตัด 3-5 วันแผลจะเริ่มแห้ง และตากสะเก็ดไม่ควรแกะลอก ควรให้ลอกหลุดเองหลังสะเก็ดหลุดจะพบว่าผิวหนังบริเวณนั้นจะมีสีแดง ไม่ต้องกังวลเนื่องจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณนั้นขยายตัวมากขึ้นเพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น ต่อมาบริเวณนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น โดยเฉพาะเมื่อถูกแสงแดด แต่สีที่คล้ำนี้จะค่อย ๆ หายไปได้ แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน แพทย์อาจให้ยาลบรอยดำ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นราย ๆ บางครั้งผู้ป่วยอาจใช้ยากันแดดทาหรือใช้ร่มเพื่อป้องกันแสงแดด


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต

เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต
 
รศ.พญ.ศศิจิต เวชแพศย์
ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



          คำว่า “โลหิต” อาจฟังดูน่าหวาดเสียวและน่ากลัวสำหรับคนบางคน แต่สำหรับโรงพยาบาลแล้ว โลหิตเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญในการรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งการรักษาหลาย ๆ อย่างในปัจจุบันนี้ จะไม่สามารถทำได้หากไม่มี



โลหิตมีความสำคัญอย่างไร

          ในร่างกายคนเรามีเลือดไหลเวียนอยู่ในตัว เพื่อทำหน้าที่ลำเลียงอาหาร น้ำ ออกซิเจนไปทั่วร่างกาย ขณะเดียวกันก็นำสารพิษ ของเสีย และคาร์บอนไดออกไซด์จากส่วนต่าง ๆ เพื่อนำไปกำจัดออกจากร่างกายเพื่อให้ร่างกายทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ในเลือดมีทั้งของเหลว(ส่วนน้ำ)และเซลล์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่ต่างกัน กล่าวคือ

          เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เนื้อเยื่อออกไปขับถ่าย เม็ดเลือดแดงมีปริมาณประมาณร้อยละ40–45 ของเลือดทั้งหมด และมีอายุเพียง 120 วัน

          เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันเหมือนทหารปกป้องเชื้อโรคในร่างกาย มีปริมาณประมาณ 1% ของเลือด

          เกร็ดเลือด ทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนของเซลล์ขนาดเล็ก มีอยู่ประมาณ 5% ของเลือด

          พลาสมา เป็นสารน้ำสีเหลือง มีโปรตีน เกลือแร่ ไขมัน ฮอร์โมน ไวตามิน มีปริมาณร้อยละ 55 ของเลือด



ประเภทของหมู่โลหิต (กรุ๊ปเลือด)

โลหิตที่อยู่ในคนไทยเรา แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ

1.หมู่โอ พบร้อยละ 38

2.หมู่เอ พบร้อยละ 21

3.หมู่บี พบร้อยละ 34

4.หมู่เอบี พบร้อยละ 7


          นอกจากนี้ในหมู่เลือด เอ,บี,โอ แต่ละชนิดจะพบว่าประมาณ 1 ถึง 3 คน ในจำนวนประชากร 1,000 คน จะมีหมู่เลือดอาร์เอ็ชลบ ซึ่งเป็นหมู่โลหิตที่หายากหรือหมู่โลหิตพิเศษ เท่าที่พบมา เราพบว่าหมู่โลหิตโอเป็นหมู่โลหิตที่หาง่าย เมื่อเทียบกับหมู่โลหิตประเภทอื่นที่บริจาคกันเข้ามา สำหรับผู้ที่ไม่เคยบริจาคโลหิตมาก่อน แต่อยากช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ยากเลยค่ะ

 
คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต

• เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว

• อายุ 18 – 60 ปี

• น้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป

• ไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะ ยาป้องกันเลือดแข็งตัว ฮอร์โมนเพศ

• ไม่มีประวัติเป็นโรคมาลาเรียในระยะเวลา 3 ปี

• ไม่ได้รับการถอนฟันหรือขูดหินปูน ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนบริจาคเลือด ไม่มีบาดแผลสดหรือแผลติดเชื้อใด ๆ ตามร่างกาย

• ผู้หญิงที่ไม่อยู่ในระยะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

 
ใครบ้างที่ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้

• ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด มะเร็ง ลมชัก โรคเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก

• ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือคู่ครอง(สามีหรือภรรยา)เป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอสไอวีหรือซิฟิลิส

• ผู้เสพยาเสพติดชนิดใช้เข็มฉีดยา

• ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ มีคู่นอนหลายคนหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย

• น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ มีต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายโต หรือมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ

เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต

การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต เพื่อมิให้ผู้บริจาคโลหิตอ่อนเพลียมากหลังบริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตจึงควรเตรียมตัวดังนี้

• ก่อนบริจาคโลหิต 1–2 วัน ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น เลือดไหลเวียนดี

• งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

• ไม่ควรเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากก่อนบริจาคโลหิต 1 วัน

• รับประทานอาหารก่อนบริจาคโลหิตประมาณ 4 ชั่วโมง

• นอนหลับพักผ่อนเพียงพอประมาณ 6 ชั่วโมง

          ซึ่งแต่ละครั้งโรงพยาบาลต้องการโลหิตประมาณ 350–450 ซีซี /คน ซึ่งปริมาณจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาค และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับโลหิตที่ปลอดภัย โลหิตที่ได้จะต้องผ่านกระบวนการทดสอบก่อนนำไปให้ผู้ป่วยคือ ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส และตรวจหาไวรัสเอดส์

 
รับประทานอะไรหลังบริจาคโลหิต

• หลังการบริจาคโลหิตเสร็จแล้ว ควรนั่งพักประมาณ 10-15 นาที รับประทานขนมหรืออาหารว่าง ดื่มน้ำ/เครื่องดื่ม 1-2 แก้วแล้วรับประทานอาหารตามปกติ ไม่ควรงดอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ตับ ไข่ เลือดหมู เลือดไก่ ผักใบเขียวและผักที่มีสีเหลือง

• งดสูบบุหรี่หลังบริจาคโลหิตอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และถ้าจะดื่มผู้บริจาคโลหิตควรรับประทานอาหารให้มากพอก่อนดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์



          เห็นไหมคะว่า หากมีการเตรียมพร้อมก่อนมาบริจาคโลหิตก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย เมื่อคุณบริจาคโลหิตไปแล้วเท่ากับคุณได้กระตุ้นร่างกายให้สร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่(เม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 120 วัน)มีผลให้สุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น สำหรับผู้หญิงสามารถบริจาคได้ทุก 6 เดือน ส่วนผู้ชายบริจาคได้ทุก 3 เดือน



          คุณเป็นผู้หนึ่งที่สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ มาร่วมบริจาคโลหิตกับโรงพยาบาลศิริราชได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ที่ห้องรับบริจาคเลือด ตึก 72ปี ชั้น 3 นอกจากนี้ยังมีหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ โทร.02-419 8081 ต่อ 110

"เลือดท่านเพียงน้อยนิด ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้"


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน คำแนะนำในการลดน้ำหนักและไขมันในเลือด

คำแนะนำในการลดน้ำหนักและไขมันในเลือด

 
ผศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา


 
1. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน โอเลี้ยง ชาดำเย็น เครื่องดื่มที่ใส่นมข้นหวาน นมเปรี้ยว นมปรุงแต่งรสต่างๆ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์ เบียร์ วิสกี้ เนื่องจากมีแคลอรีสูงมาก ถ้าต้องการดื่มชาหรือกาแฟ ไม่ควรใส่น้ำตาล ครีมเทียม หรือนมข้นหวาน อาจใส่นมพร่องมันเนย หรือน้ำตาลเทียมแทน ถ้าต้องการดื่มน้ำอัดลม สามารถดื่มได้เฉพาะน้ำอัดลมที่ใส่น้ำตาลเทียม เช่น ไดเอทโค้ก เป็ปซี่แม็กซ์ หรือดื่มโซดาจืด ถ้าต้องการดื่มนม ควรเลือกนมพร่องมันเนย หรือนมที่มีไขมันต่ำ


2. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยกระทะ เช่น อาหารผัด อาหารทอดทุกชนิด ถ้าจำเป็นควรเลือกใช้น้ำมันพืช ควรรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยการต้ม, นึ่ง, ปิ้ง, ย่าง, เผา, อบ เช่น แกงจืด แกงส้ม กับข้าว หลีกเลี่ยงแกงมันๆ เช่น แกงกะทิ ไม่ควรรับประทานอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าวสวย ขนมปัง หรือก๋วยเตี๋ยวในปริมาณที่มากเกินไป

 
3. ควรรับประทานผัก ผลไม้ และน้ำเปล่า เป็นปริมาณมากขึ้นในแต่ละมื้อ เช่น ส้ม กล้วย แอปเปิ้ล แตงโม ฝรั่ง ไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย ขนุน หรือผลไม้เชื่อม หรือผลไม้แห้งทุกชนิด

 
4. งดรับประทานขนมกินเล่น ขนมหวาน หรืออาหารที่มีกะทิหรือน้ำตาลมาก เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมปังหวาน เค้ก สังขยา ลูกกวาด ช็อกโกแล็ต คุกกี้ ไอศกรีม แกงบวด รวมทั้งของจุบจิบระหว่างมื้อ

 
5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง หรือมีไขมันอิ่มตัวสูง เนื่องจากมีแคลอรี่สูง เช่น เนื้อมะพร้าว อาหารที่ประกอบจากกะทิ ไขมันสัตว์ เครื่องในและสมองสัตว์ ไข่แดง ไข่ปลาต่างๆ เนื้อสัตว์ที่มีมันปน อาหารที่มีส่วนประกอบของเนยสัตว์ หมูสามชั้น หมูบด ขาหมู หนังสัตว์ เช่น หนังหมู, เป็ด, ไก่ ไส้กรอก กุนเชียง อาหารทะเลบางชนิด เช่น กุ้ง ปู หอย ปลาหมึก ควรรับประทานปลา หรือเนื้อหมู, ไก่ หรือวัวที่ไม่ติดมัน

 
6. ไม่ควรรับประทานอาหารหรือขนม ของหวาน ขณะดูโทรทัศน์ ขณะอ่านหนังสือ หรือทำงานอื่น ควรรับประทานช้าๆ เคี้ยวนานๆ และควรดื่มน้ำเปล่าเป็นระยะๆ ควรลดปริมาณอาหารที่ทานในมื้อเย็น

 
7. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นระยะเวลาติดต่อกัน วันละ 20-30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง โดยเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น (Aerobic exercise) เช่นวิ่ง เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เตะฟุตบอล เล่นเทนนิส หรือแบดมินตัน พึงระลึกเสมอว่า การที่น้ำหนักจะลดลงได้ พลังงานที่ใช้ต้องมากกว่าพลังงานที่ได้รับ ถ้าไม่สามารถออกกำลังกายได้ หรือ ออกกำลังกายได้น้อย ต้องลดพลังงานที่ได้รับลง คือ ควบคุมปริมาณอาหาร ถ้าไม่สามารถควบคุมอาหารได้ ต้องเพิ่มการใช้พลังงาน คือ ออกกำลังกายให้มากขึ้น

 
เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน โรค...ของคนอยากผอม (2)

โรค...ของคนอยากผอม(2)

รศ.พญ. ปรียานุช แย้มวงษ์
อายุรแพทย์ด้านโภชนศาสตร์คลินิก




โรคอยากผอม

          มีอยู่ 2 โรค และมักเป็นกับวัยรุ่นผู้หญิง นั่นคือ โรค “อโนเร็กเซีย เนอร์โวซ่า” (Anorexia nervosa) และโรค “บูลีเมีย เนอร์โวซ่า” (Bulemia nervosa) สาเหตุนั้นยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่าน่าจะมีปัจจัยทางจิตใจเป็นส่วนประกอบร่วมกับผลกระทบจากค่านิยมในสังคมที่ชอบคนผอม ทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น


1. อโนเร็กเซีย เนอร์โวซ่า ผู้ป่วยมักปฏิเสธไม่ยอมกินอาหาร และพยายามออกกำลังอย่างหนักเพื่อให้น้ำหนักลด ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักลดลงไปมากจนถึงขั้นขาดอาหาร แต่ยังไม่พอใจ ต้องการลดน้ำหนักลงไปอีก อาจใช้ยาลดน้ำหนัก ยาระบายหรือยาขับปัสสาวะร่วมด้วย

          ถ้าอาการรุนแรง จะมีกล้ามเนื้อแขนขาลีบ แก้มตอบ ซูบผอมมาก ประจำเดือนขาดหายไป มุมปากอักเสบ ผิวแห้งลอก มีขนอ่อนขึ้นตามตัว ผมเส้นบาง หักง่าย ผมร่วงง่าย เล็บเปราะ ท้องผูก นอนไม่หลับ ลุกนั่งแล้วหน้ามืด ขาดน้ำ ขาบวม หัวใจเต้นช้า หายใจช้า อุณหภูมิต่ำกว่าปกติ จนถึงหัวใจหยุดเต้นกะทันหันและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะถ้าน้ำหนักตัวลดลงไปมากกว่า 35%


2. บูลีเมีย เนอร์โวซ่า ผู้ป่วยมักจะกินมากโดยที่ควบคุมตัวเองไม่ได้แล้วรู้สึกผิด จึงไปล้วงคอให้อาเจียนหลังกินอาหารเข้าไป จนในระยะหลัง ๆ ไม่ต้องล้วงคอก็ยังอาเจียนได้ รวมทั้งใช้ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะเช่นเดียวกับผู้เป็นอโนเร็กเซีย เนอร์โวซ่า แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่ผอมเท่า และอาจมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมและครอบครัว มีความเสี่ยงต่อการสำลัก เยื่อบุหลอดอาหารและกระเพาะอาหารฉีกขาดจากการอาเจียนมาก มีเลือดออกในทางเดินอาหาร มีลมรั่วเข้าไปในช่องทรวงอก นอกจากนี้ยังอาจพบความผิดปกติในดุลกรด-ด่างได้คล้ายกับผู้ป่วยอโนเร็กเซีย เนอร์โวซ่า ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดหัวใจเต้นผิดปกติได้เช่นกัน


สำหรับการรักษาโรคอยากผอมทั้ง 2 นี้ มักทำได้ยาก เนื่องจากผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดปกติ

          ฉะนั้นในขั้นแรก จึงต้องทำให้ผู้ป่วยยอมรับปัญหาเสียก่อน แต่เนื่องจากมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะรู้สึกตัวและมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ญาติหรือเพื่อน ๆ จึงมีส่วนสำคัญมากที่จะคอยดูแลและชักจูงให้ผู้ป่วยร่วมมือกับทีมแพทย์ผู้ดูแล ซึ่งแพทย์จะบำบัดด้วยการให้โภชนบำบัดร่วมกับการรักษาทางจิตเวช ในรายที่อาการรุนแรงและมีความเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจเต้นผิดปกติหรือหยุดเต้น อาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

          ฟังเท่านี้ก็น่ากลัวแล้ว ยิ่งถ้าเกิดกับลูกหลานของตนเองล่ะ จะยิ่งทุกข์ใจเพียงใดโดยเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่ ดังนั้นพ่อแม่และคนใกล้ชิดจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผ่านพ้นเหตุการณ์เลวร้ายไปได้ สังคมเองก็อาจต้องช่วยในการป้องกันปัญหานี้ โดยเฉพาะสื่อต่างๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนค่านิยมว่า คนที่จะหล่อ สวย ดูดี จะต้องผอมมาก ๆ เป็นคนที่ดูดีเพราะมีสุขภาพดี น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

บทความจาก Siriraj ตอน โรค...ของคนอยากผอม (1)

โรค...ของคนอยากผอม (1)
 
 
รศ.พญ. ปรียานุช แย้มวงษ์
อายุรแพทย์ด้านโภชนศาสตร์คลินิก
 
 
          พวกเราอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของคนอยากผอมจนทำให้เสียชีวิตกันมาบ้าง เกิดอะไรขึ้นกับคนกลุ่มนี้ เรามาดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ
 
          
 
          เป็นธรรมดาที่คนอยากผอม จะพยายามระวังอาหารของตัวเองอย่างมาก แทบจะนับพลังงานและแคลอรีที่กินเข้าไปตลอดเวลา ถ้าจะถามว่าอะไรคือสาเหตุของการอยากผอม คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการอยากมีรูปร่างตามค่านิยมของสังคมและแฟชั่น หรืออาจเพราะความจำเป็นทางอาชีพ เช่น ดารา นางแบบที่ต้องการผู้ที่รูปร่างผอมบาง เพื่อเวลาเข้ากล้องจะได้ไม่ดูอวบอิ่มจนเกินไป
  
          สำหรับคนอยากผอมทั่วไป มักใช้การจำกัดอาหาร และกินอาหารที่มีพลังงานต่ำ บวกกับการออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงาน ซึ่งถ้าปฏิบัติตามนี้อย่างสม่ำเสมอก็คงเห็นผลในเร็ววัน แต่หลายรายไม่สามารถทำได้ จึงอาศัยยาเป็นที่พึ่งหลัก โดยที่ไม่รู้ว่ายานี่แหละเป็นตัวการสำคัญนำไปสู่ความหายนะทั้งต่อตนเองและครอบครัว
 
 ทั้งนี้ยาลดน้ำหนักที่ใช้กันอยู่ตามท้องตลาด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
 
1. กลุ่มที่ลดการดูดซึมของไขมัน ไม่ค่อยมีผลแทรกซ้อนที่รุนแรงมากนัก ถ้ากินอาหารมันมาก ก็จะ ท้องเสีย กลั้นอุจจาระไม่อยู่ ผายลมออกมาเป็นน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจทำลายความมั่นใจและทำให้เกิดความกังวลบ้าง
 
2. กลุ่มที่ทำให้หิวน้อย เป็นยาที่ผลิตออกมาในระยะหลัง แต่ยังมีผลข้างเคียง เช่นปากแห้ง คอแห้ง ปวดศีรษะ และความดันโลหิตสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีราคาแพงมาก
 
3. กลุ่มที่ทำให้ไม่อยากอาหาร มีผลเสียหลายอย่าง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง หงุดหงิด นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูงขึ้น บางชนิดทำให้เกิดแรงดันในปอดสูงขึ้น โรคลิ้นหัวใจรั่ว เกิดเลือดออกในสมองได้ ยาพวกนี้แม้จะไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว แต่ยังสามารถสั่งโดยตรงทางอินเทอร์เน็ตจากประเทศจีนได้ เคยมีข่าวที่ผู้ป่วยสั่งยามาใช้เองและเกิดเสียชีวิตในประเทศสิงคโปร์มาแล้ว
 
 
          นอกจากนี้ปัญหาจากการใช้ยาลดน้ำหนักในกลุ่มที่ 2 และ 3 อีกอย่างคือ เมื่อหยุดใช้ จะหิวและเจริญอาหารมาก ๆ จนน้ำหนักกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บางรายน้ำหนักเพิ่มมากกว่าก่อนใช้เสียอีก จนต้องกลับไปใช้ยาอีก ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเพิ่มๆ ลด ๆ ที่เรียกว่า Yo-Yo effect ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก
 
          แค่นี้ก็แย่แล้ว แต่ที่ยิ่งกว่านั้นอีกก็คือผู้ที่จิตใจอยากผอมผิดผู้ผิดคนโดยที่ตนเองไม่รู้ว่ากำลังเข้าข่ายเป็นโรคอยากผอม


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน โรคของคนอยากผอม

โรคของคนอยากผอม


รศ.พ.ญ. ปรียานุช แย้มวงษ์
สาขาวิชาโภชนศาสตร์คลินิก
ภาควิชาอายุรศาสตร์




          คนอยากผอม มีหลายประเภท กลุ่มหนึ่งอยากผอมเนื่องจากมีความจำเป็นทางอาชีพ เช่นดาราหรือนางแบบ ที่ต้องการคนที่รูปร่างผอมบาง เพื่อเวลาเข้ากล้องจะได้ไม่ดูอวบอิ่มมากเกินไป กลุ่มที่ 2 เป็นพวกอยากมีรูปร่างตามแฟชั่นและค่านิยมของสังคม คือตามกลุ่มที่ 1 อีกที ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง วัยรุ่น และกลุ่มที่ 3 ซึ่งอาการอยากผอมรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นโรค เพราะการรับรู้ต่อรูปร่างของตนผิดปกติไป ผอมอย่างไรก็ยังรู้สึกว่าตัวเองอ้วน และต้องการลดน้ำหนักลงไปอีก กลุ่มสุดท้ายนี้ อาจเป็นอันตรายจากการขาดอาหารถึงเสียชีวิตได้
          คนอยากผอม จะพยายามระวังอาหารของตัวเองอย่างมาก นับพลังงานและแคลอรี่ที่ทานเข้าไปตลอดเวลา และบางคนจะพยายามออกกำลังอย่างหนัก เพื่อเผาผลาญพลังงานที่ทานเข้าไป บางคนจะพยายามแสวงหายาลดน้ำหนักมาทาน เมื่อไปตรวจที่โรงพยาบาล แพทย์มักไม่ให้ยาลดน้ำหนักเนื่องจากยังไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คนกลุ่มนี้จึงมักไปพยายามหาซื้อยากินเอง ทำให้มีผลข้างเคียงจากยาได้มาก และเมื่อหยุดทานยา น้ำหนักตัวจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความวิตกกังวล และต้องกลับไปใช้ยาอีก


อันตรายจากการใช้ยาลดน้ำหนัก

          ยาลดน้ำหนักกลุ่มที่ลดการดูดซึมของไขมัน ไม่ค่อยมีผลแทรกซ้อนที่รุนแรงมากนัก ถ้ากินอาหารมันมาก ก็จะมีท้องเสีย กลั้นอุจจาระไม่อยู่ ผายลมออามาเป็นน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจทำลายความมั่นใจและทำให้เกิดความกังวลบ้าง

          ยาลดน้ำหนักกลุ่มที่ทำให้ไม่อยากอาหาร มีผลเสียได้หลายอย่าง เช่นปากแห้ง คอแห้ง หงุดหงิด นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ มียาบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคแรงดันในปอดสูงขึ้น และโรคลิ้นหัวใจรั่ว ยาลดน้ำหนักอีกกลุ่ม มีผลทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้ ยาพวกนี้ ถึงจะไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว แต่ยังสามารถสั่งโดยตรงทางอินเตอร์เนตจากประเทศจีนได้ และมีรายงานการสั่งยาดังกล่าวมาใช้และเกิดเสียชีวิตในประเทศสิงค์โปร์มาแล้ว การหาซื้อยาลดน้ำหนักกินเองจึงมีอันตรายมาก และไม่ควรทำ

          ปัญหาจากการใช้ยาลดน้ำหนักอีกอย่างคือ เมื่อหยุดใช้ยา จะหิวและเจริญอาหารมาก จนน้ำหนักกลับเพิ่มอย่างรวดเร็ว บางคนน้ำหนักเพิ่มมากกว่าก่อนใช้ยา จึงต้องกลับไปใช้ยาอีก น้ำหนักจึงเพิ่มๆ ลดๆ ที่เรียกว่า Yo-Yo effect ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพ


โรคอยากผอม

          ความอยากผอม จนเกิดโรค มี 2 แบบคือโรค “อโนเร็กเซีย เนอร์โวซ่า” (Anorexia nervosa) และโรค “บูลีเมีย” (Bulemia nervosa) ทั้ง 2 โรค ส่วนใหญ่พบในเพศหญิง วัยรุ่น สาเหตุยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่าน่าจะมีปัจจัยทางจิตเป็นส่วนประกอบ ร่วมกับผลกระทบจากค่านิยมในสังคมที่ชอบคนผอม ทำให้อาการรุนแรงขึ้น


อาการ

          ผู้ป่วย anorexia nervosa มักปฏิเสธไม่ยอมกินอาหาร และพยายามออกกำลังอย่างหนักเพื่อให้น้ำหนักลด ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักลดลงไป 25-30% ของน้ำหนักเดิม แต่ยังไม่พอใจ ต้องการลดน้ำหนักลงไปอีก อาจใช้ยาลดน้ำหนัก ยาระบายหรือยาขับปัสสาวะร่วมด้วย ถ้าอาการรุนแรงจะมีกล้ามเนื้อแขนขาลีบ แก้มตอบ ซุบผอมมาก, ประจำเดือนขาดหายไป, มุมปากอักเสบ, ผิวแห้งลอก, มีขนอ่อนขึ้นตามตัว, ผมเส้นบาง/หักง่าย/ผลร่วงง่าย, เล็บเปราะ, ท้องผูก, นอนไม่หลับ, ลุกนั่งแล้วหน้ามืด, ขาดน้ำ, ขาบวม, หัวใจเต้นช้า, หายใจช้า, อุณหภูมิต่ำกว่าปกติ จนถึงหัวใจหยุดเต้นกระทันหันและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะถ้าน้ำหนักตัวลดลงไปมากกว่า 35%
          ผู้ป่วย bulemia nervosa มักจะกินมากโดยควบคุมตัวเองไม่ได้ แล้วรู้สึกผิด จึงไปล้วงคอให้อาเจียนหลังกินอาหารเข้าไป จนในระยะหลังๆ ไม่ต้องล้วงคอ ก็ยังอาเจียน รวมทั้งใช้ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะเช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มแรก มักไม่ผอมมากเท่ากับผู้ป่วย anorexia nervosa แต่อาจมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมและครอบครัว มีความเสี่ยงต่อการเกิดการสำลัก เยื่อบุหลอดอาหารและกระเพาะอาหารฉีกขาด จากการอาเจียนมาก มีเลือดออกในทางเดินอาหาร มีลมรั่วเข้าไปในช่องทรวงอก นอกจากนี้ยังอาจพบความผิดปกติในดุลย์กรด-ด่างได้คล้ายผู้ป่วย anorexia nervosa ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจเต้นผิดปกติได้เช่นกันได้


การรักษา

          ในคนที่อาการรุนแรงและมีความเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจหยุดเต้น อาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อแก้ไขดุลแร่ธาตุต่างๆ และให้โภชนบำบัดร่วมกับการดูแลทางด้านจิตเวช แต่ถ้าอาการไม่รุนแรง ก็สามารถรักษาเป็นผู้ป่วยนอก การรักษามักทำได้ยากเนื่องจากผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดปกติ จึงต้องทำให้ผู้ป่วยยอมรับปัญหาก่อน และร่วมมือกันระหว่างผู้ป่วย ญาติและทีมแพทย์ผู้ดูแล โดยการให้โภชนบำบัดร่วมกับการรักษาทางจิตเวชเช่นกัน

          เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวว่าผิดปกติ จากการที่ตัวเองพยายามลดน้ำหนักอย่างต่อเนื่องทั้งๆ ที่ผอมมากจนขาดอาหาร จึงมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะมาพบแพทย์ ญาติหรือเพื่อนๆ จึงมีส่วนสำคัญมากที่จะคอยดูแลและชักจูงให้ผู้ที่มีอาการกลัวอ้วนเป็นอย่างมาก กังวลกับการที่น้ำหนักเพิ่มแม้เพียงเล็กน้อย ล้วงคอให้อาเจียนหลังกินอาหาร หรือใช้ยาลดน้ำหนัก ยาระบาย ยาขับปัสสาวะโดยไม่มีเหตุผล ให้มารับการตรวจรักษา
          สังคมอาจต้องช่วยในการป้องกันปัญหานี้ในวัยรุ่น โดยเฉพาะสื่อต่างๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนค่านิยมว่าคนที่จะหล่อ สวย ดูดี จะต้องผอมมากๆ เป็นคนที่ดูดีเพราะมีสุขภาพดี น้ำนหักตัวอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/th/

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน วิตามิน ... สารอาหารที่ไม่ควรมองผ่าน

วิตามิน ... สารอาหารที่ไม่ควรมองผ่าน

ภก. ธนกร ศิริสมุทร
ฝ่ายเภสัชกรรม ร.พ. ศิริราช


 
          หากจะเปรียบสารอาหารพวก โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงของรถแล้ว วิตามินก็เปรียบได้เป็นน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องยนต์ ที่ถึงแม้จะมีความต้องการเพียงเล็กน้อยแต่ก็ขาดไม่ได้ วิตามินทำหน้าที่เป็นปัจจัยที่ช่วยให้ร่างกายนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์ได้ หากไม่มีวิตามินถึงแม้ว่าร่างกายจะได้สารอาหารชนิดอื่นเข้าไปมากเพียงใดก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

วิตามินจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

- ชนิดละลายในไขมัน( fat soluble vitamins ) ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค

- วิตามินที่ละลายในน้ำ ( water soluble vitamins ) ในกลุ่มวิตามินบี และวิตามินซี

หน้าที่ของวิตามิน

- วิตามินเอ ช่วยในการมองเห็น รักษาการคงสภาพของเยื่อบุผิว

- วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม

- วิตามินอี ทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ

- วิตามินเค ช่วยในเรื่องการแข็งตัวของเลือด

- กลุ่มวิตามินบี ช่วยในการนำสารอาหารประเภทไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโปรตีนไปใช้

- วิตามินซี ช่วยในการสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของผิว

ข้อควรระวังของวิตามิน

          วิตามินที่ละลายในไขมันสามารถสะสมในร่างกายจนเป็นอันตรายได้ถ้าได้รับติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อย่างไรก็ดี ประชากรส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาการขาดวิตามินชนิดนี้ยกเว้นในบางท้องที่ วิตามินที่มักจะมีปัญหาในการขาด คือ กลุ่มวิตามินบี เพราะไม่มีการเก็บสะสมในร่างกาย หรือเก็บสะสมในปริมาณที่น้อยมากๆ ดังนั้นเมื่อเกิดการขาดวิตามินกลุ่มนี้ ร่างกายจะแสดงออกอย่างรวดเร็ว เช่นอาการทางระบบประสาท ท้องเสีย ชาปลายมือปลายเท้าเยื่อบุมุมปากอักเสบ การขาดวิตามินบางอย่างอาจทำให้เสียชีวิตได้ เช่น หัวใจวายจากการขาดวิตามินบีหนึ่ง

          ปัจจุบันด้วยกระแสของข้อมูลข่าวสาร ประชาชนมีโอกาสรับรู้ข้อมูลด้านสุขภาพมากขึ้นกับการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ ทำให้หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองมากขึ้นนับตั้งแต่เรื่องรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และรวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งวิตามินก็เป็นจุกสำคัญที่ประชาชนให้ความสำคัญ ทำให้มีโฆษณาช่วนเชื่อเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของวิตามินในด้านต่างๆ นอกเหนือจากหน้าที่ตามปกติของวิตามิน เช่นสรรพคุณชะลอความแก่ ป้องกันมะเร็ง ฯลฯ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วนั้น การรับประทานวิตามินบางชนิดในปริมาณที่สูงเกินไป อาจทำให้เกิดอันตรายนอกเหนือจากความสิ้นเปลือง

          ดังนั้น การรับประทานวิตามินเพิ่มนอกเหนือจากวิตามินที่ได้จากอาหารแล้ว ควรจะพิจารณาตามความจำเป็น ความสำคัญ และงบประมาณในกระเป๋าของตนเองด้วย ส่วนใหญ่การโปรโมทผลิตภัณฑ์วิตามินจะเน้นไปที่กลุ่มคนวัยทำงาน ให้ได้รับวิตามินบีให้เพียงพอ เพราะเชื่อว่าจะช่วยในเรื่องระบบประสาท และต่อสู้กับความเครียดได้ดี อย่างไรก็ตาม ถ้าแน่ใจว่ารับประทานอาหารได้สัดส่วน หลีกเลี่ยงยาเสพติด สารกระตุ้นประสาท การทำงานของสมองก็ย่อมเป็นปกติแน่นอน การเสริมวิตามินจะทำในกรณีที่มีข้อบ่งจำเพาะ เช่นการขาดสารอาหาร ภาวะความเป็นพิษบางอย่าง ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยมะเร็งผู้ที่มีปัญหารด้านการดูดซึมสารอาหารผู้ที่มีบาดแผล

เลือกซื้อวิตามินิย่างไรให้ปลอดภัย

1.ฉลากจะต้องระบุชื่อยี่ห้อ ส่วนประกอบสำคัญ ส่วนผสมอื่นๆ อย่างชัดเจนและมีปริมาณที่แน่นอน(อาจรวมถึงฉลากข้อมูลทางโภชนาการ)

2.ได้รับรองขึ้นจดทะเบียนตำหรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

3.มีที่อยู่ของผู้ผลิตผู้แทนจำหน่ายชัดเจน

4.มีวันผลิต วันหมดอายุ และวิธีการเก็บรักษา

          ในท้องตลาดทั่วไปจะมีวิตามินอยู่หลายสูตร บางสูตรมีวิตามินไม่กี่ชนิดแต่มีปริมาณต่อเม็ดสูง (มักนำมาใช้ในการรักษาโรค) บางชนิดมีวิตามินหลายชนิดในปริมาณน้อยใกล้เคียงกับความต้องการในแต่ละวันของร่างกาย วิตามินบางชนิดผสมมากับแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น สังกะสี เหล็ก ทองแดง แคลเซียม การซื้อต้องสังเกตหรือสอบถามให้ละเอียด เพราะมีผู้ป่วยบางโรคที่รับประทานแร่ธาตุบางอย่างไม่ได้ เช่นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ไม่ควรรับประทานวิตามินที่มีธาตุเหล็ก

วิธีรับประทาน

          ควรรับประทานหลังอาหาร เพื่อให้ค่อยๆเกิดการดูดซึมไปพร้อมกับอาหาร

          จะเห็นว่าแม้แต่เรื่องวิตามิน ก็มีแง่มุมที่สำคัญและน่าสนใจ การใส่ใจในเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรใส่ใจอย่างรู้เท่าทันและให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ากับตนเองให้มากที่สุด


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=543

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน ทำอย่างไรเมื่อเป็น ..เริม งูสวัด

ทำอย่างไรเมื่อเป็น ..เริม งูสวัด

รศ.พญ.วรัญญา บุญชัย
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



          เคยมั้ยเวลาเกิดผื่นแดง ตุ่มพองน้ำใส คนโน้นว่าเป็นงูสวัด คนนี้ว่าเป็นเริม แต่พอไปหาหมอ บอกอาการเสร็จสรรพแล้ว หมออธิบายให้เข้าใจความแตกต่างที่เหมือนกันอย่างแจ่มแจ้ง เลยอยากให้คุณได้ความรู้ด้วย

โรคเริม

1. เกิดจากเชื้อไวรัส “เฮอร์ปีส์” ชนิดที่ 1 หรือ 2 พบได้บ่อยบริเวณริมฝีปาก อวัยวะเพศ และก้น

2. การติดเชื้อครั้งแรก อาการจะค่อนข้างรุนแรง มีไข้ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงมีการอักเสบ เช่น ถ้าเป็นเริมที่อวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบจะอักเสบ ถ้าเป็นเริมที่ริมฝีปาก ต่อมน้ำเหลืองที่คอจะอักเสบ ลักษณะจะเป็นตุ่มน้ำขนาดเล็ก พองใส มีขอบแดง มักขึ้นรวมกันเป็นกลุ่ม แต่ไม่เรียงตามแนวเส้นประสาท และตุ่มน้ำนี้จะแตกเป็นแผลถลอกตื้น ๆ และหายไปในที่สุด ภายใน 1-2 สัปดาห์

3. เชื้อไวรัส “เฮอร์ปีส์” หรือเริม สามารถกระจายสู่ผู้อื่นได้ด้วยการสัมผัสทางกาย การจูบ การมีเพศสัมพันธ์ โดยเชื้อจะแทรกเข้าทางเยื่อบุหรือผิวหนังที่ถลอกเป็นแผล แล้วก่อให้เกิดผื่นเริมภายใน 2-20 วัน หลังรับเชื้อ หรือในรายที่มีร่างกายแข็งแรงอาจไม่ปรากฏรอยโรคเริมเลยก็ได้ หลังจากนั้นเชื้อจะหลบแฝงตัวที่ปมประสาท จนกว่าจะถูกกระตุ้นก็จะกลับมาเป็นโรคเริมอีกครั้ง

4. ผู้ที่เคยเป็นโรคเริมแล้ว จะมีโอกาส เป็นซ้ำในตำแหน่งเดิมได้บ่อย และสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดซ้ำ คือภาวะเครียด มีภูมิต้านทานร่างกายต่ำลง พักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย ขาดสารอาหาร วิตกกังวล หากหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ความถี่ของการเป็นโรคเริมจะน้อยลง

5. สำหรับผู้ที่เป็นโรคเริม ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผล เพราะอาจแพร่เชื้อไปสู่บริเวณอื่นของร่างกายหรือติดต่อไปยังผู้อื่นได้ เมื่อมีแผลเริมที่ริมฝีปาก ห้ามจูบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ผู้หญิงมีครรภ์ งดการมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่เริ่มมีอาการคันจนกระทั่งแผลหาย เพราะเป็นช่วงปล่อยเชื้อ ถึงแม้ใช้ถุงยางอนามัยก็ไม่ปลอดภัย 100% และล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หลังเข้าห้องน้ำ อย่าขยี้ตาหากเป็นเริม

6. ในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่ทำให้โรคนี้หายขาดได้ ถึงแม้ว่ายาต้านไวรัสจะมีประสิทธิภาพสูง ในรายที่เป็นเริมถี่มากกว่า 6 ครั้งต่อปี ควรปรึกษาแพทย์ซึ่งจะพิจารณาใช้ยาต้านไวรัสขนาดต่ำ เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ หรือลดความถี่ของเริม ปัญหาของโรคเริมคือ การกลับเป็นซ้ำทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ขาดความมั่นใจ รู้สึกไม่สวยงาม เสียบุคลิกภาพ


โรคงูสวัด

1. เกิดจากเชื้อไวรัส “เฮอร์ปีส์” ชนิดที่ 3 หรือชื่อเดิม คือ Varicella-zoster virus ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคสุกใส

2. เริ่มแรกจะรู้สึกไม่ค่อยสบาย อาจมีไข้ขึ้น ปวดร้าวตามผิวกาย โดยเฉพาะตามแนวเส้นประสาทที่จะเกิดเป็นงูสวัด บางคนอาจปวดมาก หรือปวดแสบปวดร้อน 3-4 วัน ต่อมาจะมีเม็ดผื่นแดง ๆ ขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส จากนั้นจะเป็นตุ่มเหลืองขุ่น มักเรียงกันเป็นแถวยาวตามแนวเส้นประสาท และจะแตก ค่อย ๆ ยุบไปจนแห้ง และเมื่อหายแล้ว ภายหลังอาจมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทได้

3. ถึงแม้ว่าเราสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสนี้จากตุ่มน้ำรอยโรคแต่การรับเชื้อครั้งแรกจะรับทางการหายใจ และออกผื่นเป็นโรคสุกใสก่อน ต่อมาเมื่อร่างกายอ่อนแอจึงกำเริบ ออกผื่นเป็นแบบงูสวัด

4. ในคนส่วนมาก งูสวัดเกิดครั้งเดียวในชีวิต มีเพียงส่วนน้อยที่มีความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกัน จึงจะเป็นซ้ำได้

5. เมื่อเกิดตุ่มน้ำงูสวัด ควรจะทำแผลโดยการประคบน้ำเกลือ (0.9% normal saline)ครั้งละประมาณ 10 นาที ประมาณ 2-3 ครั้ง/วัน ถ้าตุ่มน้ำแตกให้ทำความสะอาดแผลเหมือนแผลทั่วไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม

6. ในปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงทำให้โรคหายได้ ลดอาการเจ็บปวดและแผลหายไวขึ้น ลดระยะเวลาแพร่เชื้อ แต่ผู้ป่วยต้องมารับยาเร็วที่สุด จะได้ประสิทธิภาพการรักษาสูงสุด

 
          อย่างไรก็ตามทั้งเริมและงูสวัด ไม่ถือเป็นโรคที่ร้ายแรง และจะหายได้เองหากร่างกายแข็งแรงดี ภายใน 1-2 สัปดาห์ สำหรับการรักษาจะบรรเทาตามอาการ ซึ่งมีทั้งยากินแก้ปวด แก้ติดเชื้อแบคทีเรียกรณีเป็นหนองลุกลาม และยาทาแก้ผดผื่น อาการปวดแสบปวดร้อน ในรายผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ อายุมาก มีความเครียด ทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ เป็นมะเร็งใช้ยาต้านมะเร็งหรือยากดภูมิคุ้มกัน ควรได้รับยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีทั้งยากินหรือยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายทั่วตัวและอาจมีการติดเชื้อของอวัยวะภายในร่วมด้วยไดเช่น ปอดบวม สมองอักเสบ เป็นต้น

“ทั้งนี้จะหายได้เร็วหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเร็วของการรักษาค่ะ”

 
เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/th/