วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน ทำอย่างไรจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

ทำอย่างไรจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

ผศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



ความสำคัญของการป้องกันโรคภูมิแพ้

          อุบัติการของโรคภูมิแพ้จากการสำรวจทั่วโลก และการสำรวจในประเทศไทยเอง พบว่า เพิ่มขึ้น 3 – 4 เท่า ภายในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ประเทศไทยมีอุบัติการของโรคภูมิแพ้โดยเฉลี่ยดังนี้ คือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 23-30, โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหืด ร้อยละ 10-15, โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ร้อยละ 15 และโรคแพ้อาหาร ร้อยละ 5 โดยอุบัติการในเด็กจะสูงกว่าในผู้ใหญ่

 
          โรคภูมิแพ้นั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนปกติ เช่น ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ, เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ, ริดสีดวงจมูก, หูชั้นกลางอักเสบ, นอนกรน, ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, ผิวหนังติดเชื้อ


          สาเหตุของโรคภูมิแพ้เกิดจาก กรรมพันธุ์ และ สิ่งแวดล้อม โดยพบว่าถ้าบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50 แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะมีผลให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70 ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียงร้อยละ 10 เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัจจัยทางกรรมพันธุ์ได้ การควบคุมสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา ตลอดจนการรับประทานอาหารที่เหมาะสม จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ในบุตรได้

ทำไมการรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

          เนื่องจากโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และมีการศึกษาที่แสดงว่า สิ่งแวดล้อมและอาหารเป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้ ดังนั้นการกำจัดและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ตั้งแต่แรกในเด็กที่เกิดในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ (ซึ่งเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงสูง) และการให้เด็กดื่มนมมารดาจะสามารถป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีโรคภูมิแพ้ร่วมกันหลายชนิด เช่นเด็กที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนังอาจพบมีการแพ้อาหารร่วมด้วย ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะสามารถลดอัตราการเกิดของการแพ้อาหารได้ การดื่มนมมารดาหรือนมสูตรพิเศษ (extensively hydrolyzed formula หรือ partially hydrolyzed formula) ซึ่งเป็นนมที่มีการสลายโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ นอกจากนี้การดื่มนมที่ผสมจุลินทรีย์สุขภาพ (probiotic bacteria) เช่น แลคโตบาซิลลัส และบิฟิโดแบคทีเรียม ซึ่งเป็น จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันและลดอัตราการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังได้

 
รับประทานอย่างไรจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

          เด็กที่มีประวัติครอบครัวที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมและรับประทานอาหารที่มีโปรตีนซึ่งก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ง่าย โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

• ดื่มนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่ต้องจำกัดอาหารเป็นพิเศษสำหรับมารดาช่วงระยะตั้งครรภ์และให้นมบุตร

• กรณีที่ไม่สามารถให้นมมารดาได้ ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมสูตรพิเศษจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี

• ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมวัว และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี

• ไม่แนะนำให้ดื่มนมถั่วเหลือง นมแพะ นมแกะ ทั้งนี้เนื่องจากมีโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้เช่นเดียวกับการแพ้นมวัว

• ควรให้อาหารเสริมเมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือน โดยแนะนำให้เด็กรับประทานอาหารเสริมทีละชนิด และสังเกตว่ามีการแพ้อาหารที่ให้หรือไม่ภายในหนึ่งสัปดาห์ ก่อนที่จะให้อาหารเสริมชนิดใหม่ อาหารเสริมที่ทำให้เกิดอาการแพ้น้อย ได้แก่ ข้าวบด กล้วยน้ำว้า ฟักทอง น้ำต้มหมู น้ำต้มไก่ ผักใบเขียว

• ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่และอาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ จนกระทั่งเด็กมีอายุ 2 ปี

• ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วและปลาจนกระทั่งเด็กมีอายุ 3 ปี

 
          สำหรับเด็กที่ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ ควรดื่มนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่จำเป็นต้องงดอาหารบางอย่างที่แพ้ง่าย (เช่น ไข่ ถั่ว ปลา) อาจเพิ่มสารอาหารอื่นๆ ที่อาจเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ ได้แก่ สังกะสี วิตะมินเอ ซิลีเนียม และนิวคลีโอไทด์ นอกจากนั้น การบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัวบางชนิดเช่น docosahexaenoic acid (DHA) ในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

          นอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ไรฝุ่น, สัตว์เลี้ยง, เชื้อรา, แมลงสาบ ตั้งแต่ขวบปีแรก โดย

• ใช้เครื่องเรือนน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน

• งดใช้พรมปูพื้น ไม่ใช้เก้าอี้นอนหรือเครื่องเรือนที่บุด้วยผ้า ไม่ใช้ที่นอนหรือหมอนที่ทำด้วยนุ่น หรือขนสัตว์ ควรใช้ชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์หรือฟองน้ำ ควรคลุมที่นอน และหมอนด้วยผ้าพลาสติก หรือผ้าไวนิล หรือผ้าหุ้มกันไรฝุ่น

• ไม่สะสมหนังสือหรือของเล่นที่มีขน

• ซักผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน, ปลอกหมอน, ผ้าห่มทุก 1-2 สัปดาห์ โดยใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง

• ดูดฝุ่น เช็ดถูทำความสะอาดพื้นและเครื่องเรือน เพื่อขจัดฝุ่นละอองเป็นประจำ

• ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขน เช่น สุนัข แมว ภายในบ้าน

• พยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบภายในบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อรา ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สด หรือแห้งไว้ในบ้าน

• จัดเก็บขยะและเศษอาหารให้มิดชิด เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงสาบ

 
          การปฏิบัติตังดังกล่าว และระวังไม่ให้เด็กได้รับควันบุหรี่, ควันจากท่อไอเสีย, ควันไฟ, ฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ ตั้งแต่อายุน้อยๆ สามารถป้องกันโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจได้


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

บทความจาก Siriraj ตอน เยื่อแก้วหูอักเสบเฉียบพลัน

เยื่อแก้วหูอักเสบเฉียบพลัน

ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 



          การอักเสบของเยื่อแก้วหู อาจพบได้โดยเป็นการอักเสบที่เยื่อแก้วหูอย่างเดียว หรือพบร่วมกับการอักเสบติดเชื้อของหูชั้นนอก /หูชั้นกลางก็ได้ อาจเกิดภายหลังการบาดเจ็บ(เช่น การแคะหู เขี่ยหู)หรือภายหลังการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ใหญ่หรือเด็กก็เป็นได้สาเหตุอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย(เช่น Hemolytic streptococcus),pneumococci,mycoplasma pneumoniae หรือไวรัส (เช่น influenza)

 
อาการ

1. ปวดหู เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นอาการสำคัญที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ อาการปวดอาจจะรุนแรงหรือไม่ก็ได้ ผู้ป่วยเด็กถ้าปวดมักจะร้องตลอดเวลา ไม่ยอมหลับ มักปวดตอนกลางดึก อาจมีของเหลวไหลออกมาจากช่องหู

2. ไข้ ผู้ป่วยอาจมีไข้ หรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้

3. หูอื้อ ผู้ป่วยอาจรู้สึกตื้อ ๆ ในช่องหูคล้ายได้ยินไม่ค่อยชัด

 
อาการแสดง

          เยื่อบุแก้วหูส่วนที่มีการอักเสบจะมีสีแดง เนื่องจากมีเลือดมาคั่งบริเวณดังกล่าวมากกว่าปกติ ในผู้ป่วยบางรายอาจพบตุ่มน้ำบนเยื่อบุแก้วหู น้ำที่ขังอยู่ในตุ่มน้ำมักมีสีเหลือง ถ้าเส้นเลือดภายในแตกอาจมีสีแดงอ่อนได้


การรักษา

1. ยาต้านจุลชีพ:ในรายที่สงสัยว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ควรรับประทานยาต้านจุลชีพอย่างน้อย 1 สัปดาห์ แต่ถ้าสงสัยว่าเกิดจากเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ การอักเสบของเยื่อบุแก้วหูดังกล่าวมักหายได้เอง

2. ยาหยอดหู:ถ้าสงสัยว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาจหยอดยาหยอดหูที่มีส่วนผสมของยาต้านจุลชีพ และเลือกยาหยอดหูที่มีส่วนผสมของยาชาด้วย เพื่อลดอาการปวด

3. ยาแก้ปวด และลดไข้ หรือบรรเทาอาการ



          ถ้าผู้ป่วยมีตุ่มน้ำบนเยื่อแก้วหู ตุ่มน้ำดังกล่าว มักจะแตกออกได้เองประมาณ 2-3 วันหลังเกิดโรค ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดมาก อาจเจาะตุ่มน้ำให้แตกออก เพื่อลดอาการปวดได้


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

บทความจาก Siriraj ตอน เลือกรองเท้าอย่างไร ให้เหมาะกับสุขภาพเท้า

เลือกรองเท้าอย่างไร ให้เหมาะกับสุขภาพเท้า

ผศ.พญ.นวพร ชัชวาลพาณิชย์
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



          เท้าเป็นอวัยวะสำคัญ ที่คนเราควรใส่ใจเป็นอันดับต้น ๆ ของชีวิต แต่ถ้าคุณทำร้ายด้วยการสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม คุณเองนั่นแหละจะโดนเท้าทิ้งให้อยู่ตามลำพัง แค่ฟังก็หนาวแล้วใช่ไหมคะ นี่จึงเป็นที่มาของการสนทนาในวันนี้ “เลือกรองเท้าอย่างไร ให้เหมาะกับสุขภาพเท้า”

เข้าใจเท้า

          รองเท้าที่เหมาะสมนั้นมีหลักนิดเดียว คือใส่แล้วสบาย เดินได้ทั้งวัน แต่ถ้ารองเท้าที่คุณสวมใส่ไม่เหมาะสม เช่น ใส่รองเท้าหน้าแคบหรือรองเท้าส้นสูง อาจทำให้เกิดอาการปวดเท้าหรือมีความผิดปกติกับรูปเท้า เนื่องจากเท้าถูกบีบรัด ที่พบบ่อยคือ อาการหัวแม่เท้าเกหรือบิดเข้าสู่นิ้วชี้มากไป จนบางทีเกิดการซ้อนทับ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการรับน้ำหนักที่ไม่เหมาะสมและปวดเท้านั่นเอง ถ้าคุณมีอาการปวดเท้าอยู่แล้ว แต่ยังเลือกสวมรองเท้าไม่เหมาะสมก็อาจส่งผลให้มีอาการปวดเท้าเรื้อรังต่อไปได้อีก เพราะรองเท้านั้นสำคัญ จึงควรเลือกรองเท้าให้เหมาะกับเท้า เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียภายหลัง ดังนี้

เลือกซื้อรองเท้า

          - ช่วงบ่ายเหมาะสมที่สุด ถ้าคุณต้องเดินในช่วงกลางวัน ควรเลือกซื้อรองเท้าช่วงบ่าย ๆ เพราะเท้าจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อผ่านการเดินมาตลอดทั้งวัน เนื่องจากเลือดไหลเวียนลงสู่เท้ามากขึ้น จึงเหมาะที่จะเลือกรองเท้า เพื่อป้องกันปัญหารองเท้าคับ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและชีวิตประจำวันด้วย

           - เลือกคู่ที่ขนาดเหมาะสม คือส้นเท้าจะชิดส้นรองเท้าพอดี และส่วนหัวรองเท้าจะเหลือพื้นที่เท่ากับความกว้างของหัวแม่โป้งมือเมื่อวัดจากนิ้วเท้าที่ยาวที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนิ้วหัวแม่เท้าเสมอไป และส่วนที่กว้างที่สุดของรองเท้าควรตรงและพอดีกับตำแหน่งที่กว้างที่สุดของเท้า

           - ใส่แล้วนิ่มสบาย เลือกรองเท้าที่ไม่มีตะเข็บแข็ง รองเท้าที่ทำจากหนังแท้มักมีความยืดหยุ่นและระบายอากาศดีกว่าหนังเทียม

          - ลองก่อนเสมอ เท้าคนเราสองข้างไม่เท่ากัน จึงควรลองรองเท้าทั้งสองข้างและเดินไปมาด้วยว่าสบายเท้าหรือไม่

          - เผื่อที่กันคับ อุปกรณ์เสริมในรองเท้าต่าง ๆ เช่น แผ่นรองเท้า แผ่นกันรองเท้ากัด ฯลฯ จะทำให้รองเท้าของคุณคับขึ้น หากต้องใช้อุปกรณ์เหล่านั้นควรเลือกรองเท้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย

          - ไม่คีบดีกว่า การใส่รองเท้าคีบทำให้เกิดการเสียดสีบริเวณร่องนิ้วเท้า ไม่เหมาะในบางคนที่เท้าชา ซึ่งอาจเกิดแผลโดยไม่รู้ตัว

          - แบนไปไม่ดี ความแบนราบของพื้นรองเท้า ไม่เหมาะกับสรีระเท้าต่อการรับน้ำหนัก ดังนั้นหากใส่รองเท้าแตะ ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่มและเสริมบริเวณอุ้งเท้าจะดีกว่า

          - รองเท้าสองชั่วโมง การใส่ส้นสูงนาน ๆ อาจมีปัญหาปวดฝ่าเท้าส่วนหน้า ผิวฝ่าเท้าบริเวณดังกล่าวอาจด้านและแข็งเป็นไตเพราะต้องรับน้ำหนักมาก ดังนั้นควรใส่ส้นสูงเมื่อจำเป็น เช่น ออกงานกลางคืน และไม่ควรใส่นานเกิน 2–3 ชั่วโมง

รองเท้าที่เหมาะสมในแต่ละคน

          - นักกีฬา ควรเลือกซื้อรองเท้ากีฬา หลังจากเดินสักพักหรือหลังจากเล่นกีฬาเสร็จ เพราะเท้าจะมีขนาดเดียวกันกับขณะเล่นกีฬา ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่ม และมีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับแรงกระแทกได้ดี หากกีฬาที่เล่นใช้ปลายเท้าเป็นส่วนมาก เช่น การวิ่ง ควรเลือกรองเท้าที่ออกแบบให้รองรับแรงกระแทกส่วนหน้าโดยเฉพาะ

          - คนเท้าแบน มีทั้งแบบถาวรและชั่วคราว ฝ่าเท้าแบนทำให้ปวดบริเวณกลางฝ่าเท้า เนื่องจากเอ็นซึ่งทำหน้าที่ยกอุ้งเท้าถูกดึงยึด ดังนั้นหากคุณเป็นคนฝ่าเท้าแบนชั่วคราว(คือเท้าแบนเมื่อเหยียบพื้นเท่านั้น)ควรสวมรองเท้าที่เสริมอุ้งเท้า(บริเวณพื้นรองเท้าด้านในช่วงกลางที่นูนขึ้น)เพื่อช่วยเส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้า มีที่หุ้มด้านข้างและหลังเท้า เพื่อพยุงไม่ให้ส้นเท้าบิดและเท้าล้มเข้าด้านใน แต่หากฝ่าเท้าแบนถาวร ซึ่งมักมีเท้าส่วนกลางกว้างกว่าปกติ ควรเลือกรองเท้าที่ด้านข้างกว้าง และมีพื้นนิ่มใส่สบาย

          - คนอุ้งเท้าสูง จะมีปัญหาปวดบริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้า เพราะการรับน้ำหนักของอุ้งเท้าส่วนกลางหายไป รองเท้าจึงควรมีลักษณะเสริมอุ้งเท้าส่วนกลาง(ยกนูนช่วงกลางฝ่าเท้าและเสริมอุ้งเท้า)เพื่อช่วยกระจายน้ำหนักจากฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้ามาที่อุ้งเท้า ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่มและมีความยืดหยุ่น

          - คนปวดส้นเท้า การปวดส้นเท้าส่วนใหญ่เกิดจาก จุดยึดพังผืดบริเวณส้นเท้าอักเสบ ซึ่งมักปวดมากใน   การเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน เพราะพังผืดถูกยืดทันทีทันใด รองเท้าที่เหมาะกับปัญหานี้ ควรมีพื้นนิ่ม มีส้นเล็กน้อยเพื่อถ่ายน้ำหนักไปยังเท้าส่วนหน้า การใส่รองเท้าที่มีการเสริมอุ้งเท้า และนวดฝ่าเท้าก่อนลุกจากเตียง รวมถึงการบริหารยืดเอ็นร้อยหวายซึ่งทำได้โดย นั่งเหยียดขาข้างที่ต้องการยืดไปด้านหน้า และใช้ผ้าคล้องที่ปลายเท้าเอาไว้ ขาอีกข้างชันเข่าขึ้น และออกแรงดึงปลายผ้าทั้งสองข้างเข้าหาตัวจนรู้สึกว่าน่องตึง ค้างไว้ 10 วินาที นับเป็น 1 ครั้ง ทำวันละ 10-15 ครั้ง จะช่วยลดการปวดเท้าและลดการเกิดอาการช้ำได้

          - คนปวดฝ่าเท้าด้านหน้า ปัญหานี้พบบ่อยในผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ และผู้ที่มีภาวะหัวแม่เท้าเก ซึ่งหัวแม่เท้าไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ภาระจึงตกอยู่กับฝ่าเท้าบริเวณนิ้วชี้ถึงนิ้วก้อย เมื่อรับน้ำหนักนาน ๆ จึงทำให้ปวด ดังนั้นผู้ที่มีอาการนี้จึงควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย มีพื้นนิ่ม และมีหน้ารองเท้ากว้าง เพื่อลดการบีบและเสียดสีของเท้า

          - คนเป็นเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานมักมีปลายประสาททำงานผิดปกติ ทำให้เท้าชา มีนิ้วเท้าหงิกงอ ทำให้ฝ่าเท้าด้านหน้ารับน้ำหนักมากและนิ้วเท้าเสียดสีกับหัวรองเท้า จึงควรเลือกใส่รองเท้าพื้นนิ่ม มีหัวลึกและกว้าง ห้ามใช้รองเท้าคีบ เพราะอาจทำให้เกิดแผลบริเวณร่องนิ้วเท้าได้โดยไม่รู้ตัว

รักษาสุขภาพเท้า

1. หลังจากเท้าต้องทำงานมาทั้งวัน การแช่เท้าในน้ำอุ่น หรือนวดฝ่าเท้าจะช่วยผ่อนคลายความตึงล้าของกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ในเท้าได้ แต่ห้ามใช้ในผู้เป็นเบาหวานซึ่งมีผิวเท้าแห้ง เพราะการแช่น้ำทำให้ผิวแห้งมากขึ้น และห้ามใช้ในผู้ที่มีเท้าชา เพราะทำให้ไม่รู้ตัวว่าน้ำนั้นร้อนเกินไป อาจทำให้เท้าพองได้

2. ออกกำลังกายช่วยบริหารข้อเท้า และกล้ามเนื้อเท้าอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และกระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาสู่ปลายเท้า วิธีบริหารเริ่มจาก

          - กระดูกข้อเท้าขึ้นและลงสลับกันช้า ๆ

          - หมุนข้อเท้า โดยหมุนเข้าและหมุนออกช้า ๆ

          - ใช้นิ้วเท้าจิกผ้าที่วางอยู่บนพื้นเพื่อบริหารกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ในเท้า

          - นั่งยกขาขึ้น เหยียดเข่าตึง แล้วกระดกข้อเท้าขึ้นค้างไว้นับ 1–6 ในใจ ถือเป็น 1 ครั้ง

          ถ้าเลือกรองเท้าดีแล้วแต่ยังมีอาการปวดเท้าอักเสบขึ้นมา สามารถรับการตรวจรักษา ได้ที่ คลินิกสุขภาพเท้า โรงพยาบาลศิริราช โทร.0 2419 7504


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

บทความจาก Siriraj ตอน การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

(Allergy Skin Test)

ผศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล





          การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง คือ การนำน้ำยาสกัดจากสารภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในอากาศ เช่น ฝุ่นบ้าน ตัวไรในฝุ่น แมลงสาบ เกสรหญ้า วัชพืช เชื้อรา เป็นต้น มาทำการทดสอบที่ผิวหนังของผู้ป่วย เพื่อทำให้ทราบว่าแพ้สารใด วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ที่มีความไวและความจำเพาะสูง ทำง่าย และราคาไม่แพง สามารถทราบผลได้ทันที ผู้ป่วยสามารถเห็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นด้วยตาของตนเอง


การทดสอบมี 2 วิธีคือ

1.วิธีสะกิด (Skin Prick Test) เป็นการทดสอบโดยหยดน้ำยาลงบนผิวหนังที่แขนและใช้เข็มสะกิดลงบนปลายหยดน้ำยา ซึ่งทำง่าย เร็ว ไม่เจ็บและใช้อุปกรณ์น้อย เสี่ยงต่อการแพ้ทั่วร่างกายน้อย

2. วิธีฉีดเข้าผิวหนัง (Intradermal Test) เป็นการฉีดน้ำยาเข้าผิวหนังเป็นจุดเล็กๆ ซึ่งทำยากกว่าและเสียเวลามากกว่า เจ็บกว่าและใช้อุปกรณ์มากกว่า และทั้งเสี่ยงต่อการแพ้ทั่วร่างกายได้มากกว่า

ก่อนการทดสอบ ผู้ทดสอบจะได้คำแนะนำงดยารับประทานบางชนิดตามระยะเวลาที่กำหนด

          การทดสอบ จะเริ่มด้วยวิธีสะกิดก่อน เป็นการตรวจคัดกรอง (screening test) เพื่อดูว่าผู้ป่วยแพ้รุนแรงมาก-น้อยเพียงใด ถ้าผู้ป่วยให้ผลบวกชัดเจนต่อน้ำยาสกัดสารภูมิแพ้ชนิดใดแล้วไม่จำเป็นต้องทดสอบด้วยวิธีฉีดเข้าผิวหนังอีก แต่ถ้าการทดสอบโดยสะกิดให้ผลลบ จึงทดสอบด้วยวิธีฉีดเข้าผิวหนังเป็นลำดับต่อไป

          โดยทั่วไปการทดสอบจะใช้น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ประมาณ 10-20 ชนิด และจะอ่านผลการทดสอบใน 15-20 นาที ถ้าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดจะเกิดรอยนูนและมีผื่นแดงๆรอบๆอาจรู้สึกคันเล็กน้อยตรงจุดนั้น เจ้าหน้าที่จะวัดขนาดของรอยนูน บันทึกไว้ และแพทย์จะอธิบายให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้อะไร

          หลังจากนั้น 24 ชั่วโมง ถ้ายังมีผื่นแดงที่สดสอบภูมิแพ้นั้น ผู้ป่วยต้องวัดขนาดผื่นแดงและบันทึกไว้เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบในวันที่นัดครั้งต่อไป ผื่นนั้นจะค่อยๆหายไปเอง


ประโยชน์ของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

1.ทำให้ทราบว่าโรคที่ผู้ป่วยเป็น มีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้

2. ทำให้ผู้ป่วยทราบว่าตนเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด และมากน้อยเพียงใด

3. ผู้ป่วยสามารถกำจัด หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ตนแพ้ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการของโรคอื่นขึ้นได้

4. ถ้าจำเป็นต้องรักษาโดยการฉีดวัคซีน แพทย์จะใช้ผลการทดสอบภูมิแพ้นี้เป็นข้อมูลในการสั่งวัคซีน

สำหรับฉีดให้ผู้ป่วย


ข้อควรระวังในการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

          สำหรับผู้ป่วยที่แพ้มาก อาจเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกายเช่นเดียวกับการแพ้ยาฉีดชนิดอื่น ได้แก่ การมีผื่นคัน ลมพิษทั้งตัว แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หอบหืด และความดันโลหิตต่ำมากได้ แต่อาการเหล่านี้พบได้น้อยมาก 

          หลังการทดสอบ ต้องนั่งพักรอดูอาการอย่างน้อย 30 นาที จึงกลับบ้านได้


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน แผลเป็น

แผลเป็น

ผศ.นพ.สรวุฒิ ชูอ่องสกุล
สาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



คำถามที่ 1 แผลเป็นมีกี่ชนิด

แผลเป็นมีหลายรูปแบบ แต่แผลเป็นที่ถือว่าผิดปกตินั้นจะแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

1.แผลเป็นที่โตนูน แผลเป็นที่โตนูนมี 2 แบบคือ

          - แผลเป็นนูนเกิน หรือ hypertrophic scar : เป็นแผลเป็นที่โตนูน แต่ไม่เกินขอบเขตของแผลเดิม ในระยะแรกจะมีลักษณะนูน แดง คัน

          - แผลเป็นคีลอยด์ : เป็นแผลเป็นที่โตนูน และขยายใหญ่เกินขอบเขตของแผลเดิมไปมาก

2.แผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไปที่เรียกว่า depressed scar มีลักษณะเป็นร่อง หรือรูบุ๋มลึกลงไปใต้ผิวหนัง

3.แผลเป็นที่มีการหดรั้งร่วมด้วย เรียกว่า scar contracture : แผลเป็นชนิดนี้จะดึงรั้งอวัยวะบริเวณแผลให้ผิดรูปได้

          แผลเป็นทั้งสามลักษณะนี้อาจจะมีผิวสีซีดที่เรียกว่า hypopigmentation หรือผิวสีเข้ม hyperpigmentation ก็ได้



คำถามที่ 2 hypertrophic scar เกิดจากอะไร

          จริงๆแล้วยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าทำไมบางคนถึงเกิด hypertrophic scar หรือแผลเป็นนูนเกิน แต่สาเหตุอาจจะพบได้จากการที่แผลเกิดในตำแหน่งที่ความตึงมาก เช่น บริเวณข้อต่อหรือกลางหน้าอก เป็นต้น แผลเป็นนูนเกินนี้มักจะพบได้มากในช่วงระยะ 6 เดือนแรก หลังจากนั้นก็จะค่อยๆยุบลง และจะกลับเข้าสู่แผลเป็นคงที่ (stable scar) มีลักษณะใกล้เคียงแผลเป็นปกติในช่วงประมาณ 1 ปีภายหลังเกิดแผล



คำถามที่ 3 แผลเป็นคีลอยด์เกิดจากอะไร

          จริงๆก็ยังไม่ทราบสาเหตุของแผลเป็นคีลอยด์ แต่พบว่ามักจะเกิดในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม ในตำแหน่งที่เกิดได้บ่อย ได้แก่ หัวไหล่ ติ่งหูและกลางหน้าอก ส่วนหนึ่งพบในผู้ป่วยที่มีประวัติทางพันธุกรรม คือ มีประวัติการเกิดคีลอยด์ในพ่อหรือแม่ แผลเป็นคีลอยด์นี้เชื่อว่าเกิดจากการที่แผลเป็นมีการสร้างสารที่เรียกว่าคอลลาเจนมากเกินกว่าปกติ



คำถามที่ 4 เราจะป้องกันได้อย่างไร

          การป้องกันการเกิดแผลเป็นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการที่มีแผลใหม่ๆ เราจะเริ่มโดยการแนะนำให้ผู้ป่วยนวด หรือการกดบริเวณนั้นๆ โดยทั่วไปแล้วการนวดอย่างสม่ำเสมอในระยะประมาณ 3-6 เดือนแรก เป็นเรื่องสำคัญ และจะช่วยให้แผลเป็นนั้นลดการขยายตัวและนูนเกินได้ ในบางครั้งแผลเป็นที่มีขนาดใหญ่กว้าง เช่นแผลเป็นที่เกิดจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก อาจจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือพิเศษหรือผ้ารัดหรือ pressure garment

          pressure garment นี้จะต้องสวมใส่เพื่อที่จะรัดบริเวณที่เกิดแผลเป็น เช่น ใบหน้า ลำตัว และแขน ขา ในช่วงระยะประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีแรกหลังจากได้รับอุบัติเหตุ

          การนวดก็จะสามารถลดการเกิดแผลเป็นได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในช่วงระยะแรกที่แผลเป็นมีการอักเสบอยู่ การนวดก็จะช่วยลดไม่ให้แผลเป็นมีการขยายใหญ่โตได้



คำถามที่ 5 การรักษามีกี่วิธี

หากพบว่ามีแผลเป็นเกิดขึ้นแล้ว จะเริ่มจากการรักษาโดย

          - วิธีที่ 1 คือวิธีอนุรักษ์หรือว่า conservative ก่อน โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่าเกิน 95 % รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด วิธีที่แนะนำให้ใช้วิธีแรกคือ การใช้แผ่นซิลิโคนปิด แผ่นซิลิโคนนี้จะเป็นแผ่นเจลใสๆที่ทำมาจากซิลิโคน เราสามารถปิดไว้บนบาดแผล หลังจากบาดแผลหายดีแล้วประมาณ 7 วัน การปิดแผลนี้แนะนำให้ปิดตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งข้อดีจะทำให้บริเวณผิวหนังที่อยู่ใต้แผ่นซิลิโคนนี้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้ลดการอักเสบได้

          - วิธีที่ 2 เนื่องจากว่าบางครั้งเราพบว่าการปิดด้วยซิลิโคนอาจจะไม่สะดวก การใช้แผ่นเทปเหนียว หรือว่า microporous tape ก็จะสามารถทดแทนได้เช่นเดียวกัน แผ่นเทปเหนียวนี้สามารถใช้ปิดลงบนบาดแผลได้โดยตรง และจะทำให้ผิวหนังบริเวณใต้ต่อเทปนี้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้มีการอักเสบลดน้อยลง

          - วิธีที่ 3 การฉีดยาด้วยยาสเตียรอยด์ จะลดการอักเสบของการเกิดเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ได้ ยาที่แนะนำคือ Triamcinolone acetonide ซึ่งเป็นยาฉีดเฉพาะที่ สามารถลดการอักเสบ วิธีการรักษาคือฉีดยาเข้าไปในแผลเป็นโดยตรง แต่ก็อาจทำให้มีอาการเจ็บได้พอสมควรในระหว่างการฉีดยา จะแนะนำให้ฉีดแผลเป็นนี้ในช่วงระยะประมาณไม่เกิน 1 ปีแรกหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่แล้วจะนัดมาฉีดประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งความถี่ในการฉีดขึ้นอยู่กับการตอบสนองของยาว่าเป็นอย่างไร

          - วิธีที่ 4 คือการผ่าตัด การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับรูปแบบของแผลเป็นนั้น ถ้าเป็นกรณีที่เกิดเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ เราก็อาจจะใช้วิธีตัดออก หรือว่าลดขนาดลงบางส่วน วิธีนี้อาจจะใช้ร่วมกับการรักษาโดยวิธีอื่น เช่น การฉีดยา หรือการปิดด้วยแผ่นซิลิโคนก็ได้ การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธี อาจจะใช้วิธีตัดออกโดยตรงแล้วเย็บปิดเป็นเส้นตรง หรืออาจจะตัดออกเป็นรูปซิกแซก เพื่อที่จะให้แผลเป็นที่เกิดขึ้นใหม่มีลักษณะใกล้เคียงกับรอยย่นตามผิวหนัง


          การผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งคือการลดขนาดของแผลเป็น วิธีนี้เราจะใช้วิธีการตัดแผลเป็นออกบ้างบางส่วน โดยจะไม่ตัดออกทั้งหมด หลังจากนั้นจะนัดผู้ป่วยมาเพื่อติดตามผลการรักษา หากแผลเป็นมีขนาดเล็กลงอาจจะนัดมาตัดซ้ำอีกครั้ง เรียกว่าการตัดแบบทีละน้อย หรือ serial excision วิธีการผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งคือการใช้วิธีขัดกรอผิวหนัง หรือว่า dermabrasion การขัดกรอผิวหนังนี้จะใช้ในกรณีที่มีแผลเป็นที่รอยขรุขระหรือไม่เรียบหรือเป็นรอยบุ๋ม แผลเป็นนี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากสิวอักเสบหรือโรคสุกใส การใช้หัวกรอหรือใช้แสงเลเซอร์ยิงบริเวณที่รอยขรุขระนี้ เพื่อจะปรับสภาพผิวให้ราบเรียบขึ้น แต่ข้อควรระวังคืออาจจะเกิดมีการเกิดผิวสีเข้มหรือ hyperpigmentation บริเวณนั้นได้


          การรักษาแผลเป็นนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาดูว่าแผลเป็นนั้นเป็นแผลเป็นนูนชนิดใด หากเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ จะต้องพิจารณาการรักษาอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นอาจจะมีแผลเป็นใหญ่โตเกินกว่าขนาดเดิมได้ โดยทั่วไปแล้วแผลเป็นมักจะสามารถป้องกันได้ เพราะฉะนั้นหากเรารู้จักวิธีการดูแลรักษาภายหลังจากที่ได้รับแผลเป็นใหม่ๆ ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้แผลเป็นนั้นนูนเกินหรือเป็นคีลอยด์ได้ในอนาคต

 
เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน "กำจัดขนด้วยเลเซอร์" อันตรายหรือไม่

"กำจัดขนด้วยเลเซอร์" อันตรายหรือไม่

รศ.นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ
ศูนย์เลเซอร์ผิวหนังศิริราช
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


          ผิวหนังของคนเราเกือบทุกส่วนจะปกคลุมด้วยเส้นขน ยกเว้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า เส้นขน มีประโยชน์หลายอย่างแตกต่างกันตามตำแหน่ง เช่น ขนบริเวณลำตัวและแขนขา ช่วยควบคุมระดับอุณหภูมิในร่างกาย ขนบริเวณหนังศีรษะมีไว้ปกป้องแสงแดดและเพื่อความสวยงาม ขนบริเวณรักแร้ ลดแรงเสียดสี เป็นต้น แต่ในบางครั้งเส้นขนที่ดกดำมากเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านความสวยงามหรือบุคลิกภาพของคุณได้เช่นกัน เช่น เส้นขนบริเวณหน้าแข้งหรือริมฝีปากของคุณสุภาพสตรี ภาวะความผิดปกติของฮอร์โมนหรือผลข้างเคียงของยาบางประเภทก็สามารถก่อให้เกิดขนขึ้นมากผิดปกติ หรือเกิดขนงอกในบริเวณที่ไม่ควรงอก เช่น โรค Polycystic ovarian syndrome การรับประทานยาประเภทสตียรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกันบางประเภท เป็นต้น การกำจัดขนจึงอาจเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับบางท่าน


การกำจัดขน มี 2 วิธีคือ

1. กำจัดขนแบบชั่วคราว ได้แก่ การโกน ถอน ใช้ด้ายกระตุกซึ่งวิธีการเหล่านี้ นอกจากต้องทำบ่อย ๆ เพราะความที่เป็นวิธีที่ไม่ถาวรแล้ว ยังมักก่อให้เกิดปัญหาของรูขุมขนอักเสบ และขนคุดตามมา

2. กำจัดขนแบบถาวร ในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ

          2.1 วิธี electrolysis คือ การใช้เข็มสอดลงไปที่รากขนทีละเส้นแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าทำลายรากขน วิธีนี้ค่อนข้างเจ็บและเสียเวลานานมาก เพราะต้องสอดเข็มลงไปที่รากขนทีละเส้น และมีโอกาสเสี่ยงกับการเกิดแผลเป็นค่อนข้างสูง เพราะว่าการสอดเข็มลงไปที่รากขนเป็นวิธีการสอดแบบสุ่ม โดยที่ผู้ทำการรักษาไม่ทราบว่ารากขนอยู่ที่ใด

          2.2 วิธีใช้แสงความเข้มสูงและเลเซอร์ เป็นวิธีการกำจัดขนโดยอาศัยพลังงานความร้อนจากแสงไปทำลายรากขน แสงสามารถทำลายรากขนโดยเฉพาะเจาะจง เพราะว่าบริเวณรากขนจะมีเซลล์สร้างสีที่เรียกว่าเมลาโนซัยท์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวนำแสงหรือตัวดูดพลังงานแสงให้มาอยู่เฉพาะบริเวณรากขน


เลเซอร์และแสงความเข้มสูงช่วยกำจัดขนอย่างไร

           เครื่องกำจัดขนสามารถส่งพลังงานแสงไปที่รากขน เซลล์สร้างสีบริเวณรากขนจะทำหน้าที่ดูดรับพลังงานแสง แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนเพื่อทำลายรากขน ความรู้สึกระหว่างกำจัดขนด้วยแสงคล้ายกับหนังยางดีดบนผิวหนัง เป็นความรู้สึกซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ทนความรู้สึกได้ บริเวณผิวหนังอ่อน ๆ เช่น ริมฝีปาก ขาหนีบจะรู้สึกมากกว่าบริเวณอื่น การทายาชาชนิดครีมก่อนการทำเลเซอร์จะช่วยลดความรู้สึกระหว่างการรักษาได้ นอกจากนี้เลเซอร์หลายชนิดมีระบบให้ความเย็นแก่ผิวหนัง ซึ่งสามารถลดอาการเจ็บระหว่างการรักษาได้

เวลาในการกำจัดขน

          ระยะเวลาที่ใช้ขึ้นกับตำแหน่ง เช่น บริเวณรักแร้ใช้เวลาเพียง 2 - 3 นาที ส่วนบริเวณแผ่นหลังหรือหน้าแข้งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง


การรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยใด

          ผลของการรักษาขึ้นอยู่กับสีของขนและสีผิว โดยทั่วไปเส้นขนสีดำเข้มจะได้ผลดีกว่าเส้นขนสีอ่อน คนผิวขาวมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าคนผิวคล้ำ


ต้องกำจัดขนกี่ครั้งถึงได้ผล

          การกำจัดขนด้วยแสงจะทำลายเส้นขนประมาณ 15 -30 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังการรักษา 1 ครั้ง โดยทั่วไปต้องรักษาประมาณ 5 - 8 ครั้ง การรักษามักทำทุก 4 - 6 สัปดาห์


เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังหลังกำจัดขน

          ผิวหนังบริเวณรอบรูขุมขนจะแดงและบวมเล็กน้อยภายในระยะเวลา 30 นาทีภายหลังการรักษา ซึ่งอาการนี้จะหายไปเองภายในเวลา 1 วัน การประคบด้วยความเย็นจะช่วยลดอาการแสบร้อนได้ ผิวหนังภายหลังการรักษาจะไม่เกิดแผล ไม่มีเลือดออก และไม่จำเป็นต้องปิดแผล


ดูแลหลังกำจัดขน

          ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติกิจวัตรประวันได้ตามปกติ เช่น อาบน้ำ และควรใช้ครีมกันแดดทาบริเวณที่ได้รับการรักษา ยกเว้นการใช้สบู่หรือครีมที่ระคายเคืองที่ผิวหนัง เช่น Retin-A,AHA ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการออกแดดสักระยะหนึ่ง


เส้นขนหลังรักษา

           เส้นขนจะค่อยๆ ถูกดันให้หลุดออกจากผิวหนังภายใน 2 สัปดาห์ หลังการรักษา


เตรียมตัวอย่างไรก่อนทำ

          ภายใน 2 สัปดาห์ก่อนทำเลเซอร์ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่จำเป็น ไม่ควรถอนหรือแว็กซ์ขน หากจำเป็นอาจใช้วิธีโกน แต่ควรหยุดโกนขนภายในระยะเวลา 2-3 วัน ก่อนการทำการรักษา



หากท่านมีปัญหาเรื่องขน ติดต่อได้ที่ “ศูนย์เลเซอร์ผิวหนัง” โรงพยาบาลศิริราช ตึก 84 ปี ชั้น 2 โทร. 0 2419 9922, 0 2419 9933 เราช่วยท่านได้ครับ

 
เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน เรามารู้จักเลเซอร์กันเถอะ

เรามารู้จักเลเซอร์กันเถอะ

ภาควิชาตจวิทยา



LASER ย่อมาจาก Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation

          ลำแสงเลเซอร์ แตกต่างจากแสงที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน คือ แสงเลเซอร์เป็นแสงที่มีพลังงานสูงและมีความยาวคลื่นเดียว เดินทางเป็นเส้นตรงให้พลังงานออกมาในทิศทางเดียวกันและเครื่องเลเซอร์สามารถรวมแสง ให้ตกในบริเวณเล็ก ๆ ทำให้พลังงานของแสงเลเซอร์ที่ตกลงบริเวณนั้นสูงมาก

          เลเซอร์ได้ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์ผิวหนังในปี ค.ศ.1963 หลังจากนั้นได้มีการศึกษา และพัฒนาการนำเลเซอร์ชนิดใหม่ ๆ มาใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ซึ่งให้ผลดีและมีความปลอดภัยสูง เลเซอร์มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับโรคของผู้ป่วย การใช้เลเซอร์ผิดประเภท นอกจากจะไม่ได้ผลในการรักษาแล้ว ยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้

          สำหรับภาควิชาตจวิทยา (ผิวหนัง) โรงพยาบาลศิริราช ใช้คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ และ Q-switched Nd:YAG ในการรักษาโรคผิวหนัง เช่น โรคเนื้องอกบางชนิด หูด ไฝ กระเนื้อ โรคของเม็ดสีผิวหนังที่อยู่ในชั้นหนังกำพร้า และชั้นหนังแท้ เช่น ปานดำ ปานโอตะ


โรคผิวหนังที่สามารถรักษาด้วยเลเซอร์

1. โรคเส้นเลือดของผิวหนัง เช่น ปานแดง

2. โรคของเม็ดสีผิวหนัง เช่น ไฝ ปานดำ

3. การลดรอยสัก

4. การรักษาหูด

5. การรักษาแผลเป็น เช่น แผลเป็นจากการผ่าตัดจากอุบัติเหตุ

6. การขัดหน้าลดรอยเหี่ยวย่น

7. การกำจัดขน

 
ข้อดี

1.ไม่ทำลายเนื้อเยื่อที่มีบริเวณรอบ ๆ แผลที่ผ่าตัด

2.โอกาสเกิดแผลเป็น จากการใช้เลเซอร์มีน้อยมาก

3.ลดอัตราการเกิดการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด

4.แผลจะหายเร็วกว่าการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยใบมีด

5.เป็นการผ่าตัดที่มีเสียเลือดหรือเสียงน้อยมาก

6.ลดความเจ็บปวดเนื่องจากแสงเลเซอร์ช่วยปิดปลายเส้นประสาทของเนื้อเยื่อที่ถูกตัดขาด

 
คำแนะนำก่อนทำเลเซอร์

1.ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลให้เข้าใจเกี่ยวกับการทำเลเซอร์เพื่อลดความกลัวและความวิตกกังวล

2.ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวด ในกลุ่มแอสไพรินอย่างร้อย 10 วัน ก่อนวันนัดทำเลเซอร์เพื่อป้องกันการมีเลือดออกง่าย

3.ถ้ามีโรคประจำตัวหรือมีประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ ควรบอกให้แพทย์ทราบก่อนนัดทำเลเซอร์

4.ถ้าผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีผู้ปกครองมาในวันนัดทำผ่าตัด เพื่อเซ็นอนุญาตให้ทำผ่าตัดผู้ป่วยได้

5.ขณะทำเลเซอร์ ผู้ป่วยควรสวมแว่นตากันแสงเลเซอร์ โดยเฉพาะเพื่อป้องกันอันตรายจากแสงเลเซอร์ต่อกระจกตาหรือตาดำได้

6.แผลหลังทำเลเซอร์ไม่ควรให้ถูกแสงแดดโดยตรง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรนำร่มหรือหมวกมาในวันนัดทำเลเซอร์ด้วย

คำแนะนำหลังการทำเลเซอร์

1. แผลขนาดเล็ก เช่น ไฝ สามารถถูกน้ำได้แล้วซับแผลให้แห้งด้วยผ้าสะอาด ควรทำความสะอาดแผลวันละ 2 ครั้ง เช้า ก่อนนอน ด้วยน้ำเกลือ (normal saline) ซับแผลให้แห้งแล้วทาครีมปฏิชีวนะ

2. แผลขนาดใหญ่ เช่น การลบรอยย่น รอยตีนกา ไม่ควรให้แผลถูกน้ำใน 2-3 วันแรก ควรทำความสะอาดแผลวันละ 3-4 ครั้ง เช้า กลางวันเย็นและก่อนนอน โดยประคบแผลด้วยน้ำเกลือ นานครั้งละ 10-15 นาที แล้วทาครีมปฏิชีวนะหรือขี้ผึ้งวาสลิน ควรทำติดต่อกันอย่างน้อย 3-4 วัน หลังผ่าตัดช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น (ไม่ควรใช้ แอลกอฮอล์ เช็ดแผล ที่ทำเลเซอร์)

3. ถ้าพบว่ามีผื่นแดงเกิดขึ้นบริเวณแผลหรือรอบ ๆ แผลหลังทายาปฏิชีวนะ ให้หยุดยาทันทีและมาพบแพทย์ อาจเป็นอาการของการแพ้ยาปฏิชีวนะได้

4. ถ้าแผลมีเลือดออก ให้นั่งหรือนอนแล้วใช้ผ้าสะอาดกดแผลนานประมาณ 20 นาที ถ้าเลือดไม่หยุดไหลให้รีบมาพบแพทย์

5. แผลอาจบวมแดงได้ หลังการทำเลเซอร์โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตา อาจใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณที่บวมนาน 15-20 นาที ไม่ควรประคบที่เดียวนาน ๆ ควรสลับที่กัน ควรทำใน 24 ชั่วโมง แรกหลังผ่าตัด และนอนหนุนหมอนสูงเพื่อช่วยให้ยุบบวมได้เร็วขึ้น อาการบวมจะหายภายใน 3-7 วัน

6. ถ้าปวดแผล ให้รับประทานยาแก้ปวด พาราเซตามอล (paracetamol) 500 มิลลิกรัม 1-2 เม็ดทุก 4-6 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการรับประทานยาพวกแอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกได้ง่าย

7. ในเวลา 2-3 วันแรกหลังผ่าตัดแผลยังไม่หายดี ไม่ควรใช้ครีมล้างหน้า หรือใช้เครื่องสำอางตรงบริเวณแผล เมื่อแผลแห้งสนิทดีแล้วสามารถใช้ยากันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 30 จะช่วยป้องกันแผลไม่ให้เกิดสีคล้ำมากขึ้น

8. หลังทำผ่าตัด 3-5 วันแผลจะเริ่มแห้ง และตากสะเก็ดไม่ควรแกะลอก ควรให้ลอกหลุดเองหลังสะเก็ดหลุดจะพบว่าผิวหนังบริเวณนั้นจะมีสีแดง ไม่ต้องกังวลเนื่องจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณนั้นขยายตัวมากขึ้นเพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น ต่อมาบริเวณนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น โดยเฉพาะเมื่อถูกแสงแดด แต่สีที่คล้ำนี้จะค่อย ๆ หายไปได้ แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน แพทย์อาจให้ยาลบรอยดำ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นราย ๆ บางครั้งผู้ป่วยอาจใช้ยากันแดดทาหรือใช้ร่มเพื่อป้องกันแสงแดด


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/