วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความจาก Siriraj ตอน โรค...ของคนอยากผอม (2)

โรค...ของคนอยากผอม(2)

รศ.พญ. ปรียานุช แย้มวงษ์
อายุรแพทย์ด้านโภชนศาสตร์คลินิก




โรคอยากผอม

          มีอยู่ 2 โรค และมักเป็นกับวัยรุ่นผู้หญิง นั่นคือ โรค “อโนเร็กเซีย เนอร์โวซ่า” (Anorexia nervosa) และโรค “บูลีเมีย เนอร์โวซ่า” (Bulemia nervosa) สาเหตุนั้นยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่าน่าจะมีปัจจัยทางจิตใจเป็นส่วนประกอบร่วมกับผลกระทบจากค่านิยมในสังคมที่ชอบคนผอม ทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น


1. อโนเร็กเซีย เนอร์โวซ่า ผู้ป่วยมักปฏิเสธไม่ยอมกินอาหาร และพยายามออกกำลังอย่างหนักเพื่อให้น้ำหนักลด ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักลดลงไปมากจนถึงขั้นขาดอาหาร แต่ยังไม่พอใจ ต้องการลดน้ำหนักลงไปอีก อาจใช้ยาลดน้ำหนัก ยาระบายหรือยาขับปัสสาวะร่วมด้วย

          ถ้าอาการรุนแรง จะมีกล้ามเนื้อแขนขาลีบ แก้มตอบ ซูบผอมมาก ประจำเดือนขาดหายไป มุมปากอักเสบ ผิวแห้งลอก มีขนอ่อนขึ้นตามตัว ผมเส้นบาง หักง่าย ผมร่วงง่าย เล็บเปราะ ท้องผูก นอนไม่หลับ ลุกนั่งแล้วหน้ามืด ขาดน้ำ ขาบวม หัวใจเต้นช้า หายใจช้า อุณหภูมิต่ำกว่าปกติ จนถึงหัวใจหยุดเต้นกะทันหันและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะถ้าน้ำหนักตัวลดลงไปมากกว่า 35%


2. บูลีเมีย เนอร์โวซ่า ผู้ป่วยมักจะกินมากโดยที่ควบคุมตัวเองไม่ได้แล้วรู้สึกผิด จึงไปล้วงคอให้อาเจียนหลังกินอาหารเข้าไป จนในระยะหลัง ๆ ไม่ต้องล้วงคอก็ยังอาเจียนได้ รวมทั้งใช้ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะเช่นเดียวกับผู้เป็นอโนเร็กเซีย เนอร์โวซ่า แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่ผอมเท่า และอาจมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมและครอบครัว มีความเสี่ยงต่อการสำลัก เยื่อบุหลอดอาหารและกระเพาะอาหารฉีกขาดจากการอาเจียนมาก มีเลือดออกในทางเดินอาหาร มีลมรั่วเข้าไปในช่องทรวงอก นอกจากนี้ยังอาจพบความผิดปกติในดุลกรด-ด่างได้คล้ายกับผู้ป่วยอโนเร็กเซีย เนอร์โวซ่า ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดหัวใจเต้นผิดปกติได้เช่นกัน


สำหรับการรักษาโรคอยากผอมทั้ง 2 นี้ มักทำได้ยาก เนื่องจากผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดปกติ

          ฉะนั้นในขั้นแรก จึงต้องทำให้ผู้ป่วยยอมรับปัญหาเสียก่อน แต่เนื่องจากมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะรู้สึกตัวและมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ญาติหรือเพื่อน ๆ จึงมีส่วนสำคัญมากที่จะคอยดูแลและชักจูงให้ผู้ป่วยร่วมมือกับทีมแพทย์ผู้ดูแล ซึ่งแพทย์จะบำบัดด้วยการให้โภชนบำบัดร่วมกับการรักษาทางจิตเวช ในรายที่อาการรุนแรงและมีความเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจเต้นผิดปกติหรือหยุดเต้น อาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

          ฟังเท่านี้ก็น่ากลัวแล้ว ยิ่งถ้าเกิดกับลูกหลานของตนเองล่ะ จะยิ่งทุกข์ใจเพียงใดโดยเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่ ดังนั้นพ่อแม่และคนใกล้ชิดจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผ่านพ้นเหตุการณ์เลวร้ายไปได้ สังคมเองก็อาจต้องช่วยในการป้องกันปัญหานี้ โดยเฉพาะสื่อต่างๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนค่านิยมว่า คนที่จะหล่อ สวย ดูดี จะต้องผอมมาก ๆ เป็นคนที่ดูดีเพราะมีสุขภาพดี น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม


เครดิต : http://www.si.mahidol.ac.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น