1. เดอะเวฟ (The Wave) ที่รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกาเดอะเวฟ
คือ ภูเขาหินทรายที่ฟอร์มตัวในลักษณะคล้ายคลื่นลาดชัน เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 190 ล้านปีก่อนหรือในยุคจูราสสิก เนื่องจากพื้นที่แถบนี้มีความเปราะบางมาก ทางการจึงจำกัดให้เข้าชมได้เพียงวันละไม่เกิน 20 คน และต้องเดินเท้าเข้าไปเกือบ 5 ก.ม. จึงจะถึงดินแดนมหัศจรรย์แห่งนี้
2. Tessellated Pavement บนเกาะแทสเมเนีย (รัฐหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย)
นี่คือภาพลานหินตะกอนบริเวณชายฝั่งที่ Eaglehawk Neck บนเกาะแทสมาเนีย ซึ่งถ้าหากมองเผินๆ จะแลดูคล้ายมีใครนำแผ่นกระเบื้องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่มาวางเรียงรายริมทะเล (บริเวณขอบสี่เหลี่ยมที่เราเห็นเป็นแนวเส้นตรงนั้น เกิดจากแรงตึงเครียดของผิวโลก ผนวกกับการกัดเซาะอย่างต่อเนื่องของคลื่นและแรงเสียดสีของทราย)
3. หินรูปทรงประหลาด ในทะเลทรายขาว (White Desert) ประเทศอียิปต์
ทะเลทรายแห่งนี้ตั้งอยู่ใน Farafra Oasis มีลักษณะเป็นสีขาวและครีม ประกอบด้วยกลุ่มหินชอล์ครูปทรงประหลาดขนาดใหญ่มากมาย อันเป็นผลงานของพายุทรายที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
4. บ่อน้ำพุร้อนสีเลือด (Blood Pond Hot Spring) ที่เบปปุ ประเทศญี่ปุ่น
น้ำพุร้อนสีเลือด (Chinoike Jigoku) เป็นหนึ่งในบ่อน้ำพุร้อนชื่อดังของเมืองเบปปุ ในจังหวัดโออิตะ บนเกาะคิวชู สาเหตุที่น้ำพุมีสีเลือดเนื่องจากมีธาตุเหล็กอยู่ในปริมาณมากนั่นเอง
5. Giant's Causeway ที่ไอร์แลนด์เหนือ
Giant's Causeway เป็นชายฝั่งที่เกิดจากการเย็นตัวของหินภูเขาไฟเมื่อประมาณ 50,000 ถึง 60,000 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดหินรูปหกเหลี่ยมและหินแท่งสี่เหลี่ยมกว่า 40,000 แท่ง องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียน Giant´s Causeway เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529)
6. ทะเลเกลือ (salt flats) ที่ Salar de Uyuni ประเทศโบลิเวีย
จริงๆ แล้วที่ราบเกลือหรือทะเลเกลือลักษณะนี้มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน แต่ทะเลเกลือที่ Salar de Uyuni ของประเทศโบลิเวียนั้น มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมากถึง 10,582 ตารางกิโลเมตร
7. ป่าหิน (Stone Forest) เมืองคุนหมิง มลฑลยูนาน ประเทศจีน
อุทยานป่าหิน (Shilin National Park) ในเมืองคุนหมิง จัดเป็นป่าหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีพื้นที่มากถึง 350 ตารางกิโลเมตร แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเพียง 12 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น เดิมทีหินปูนเหล่านี้อยู่ใต้ผิวโลก แต่ภายหลังได้ถูกดันขึ้นมาในลักษณะเดียวกับหินงอก เชื่อกันว่าป่าหินแห่งนี้มีอายุราว 270 ล้านปีเลยทีเดียว
8. ธารน้ำแข็ง Taylor ใน McMurdo Dry Valleys ที่แอนตาร์คติกา (ขั้วโลกใต้)
ธารน้ำแข็งอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ มีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่โดดเด่นเป็นสีแดงส้ม ตัดกับน้ำแข็งส่วนอื่นๆ ซึ่งมีสีขาวโพลน เนื่องจากพื้นที่แถบนั้นเต็มไปด้วยออกไซด์ของเหล็ก (iron oxide) ซึ่งก็คือ "สนิม" นั่นเอง ด้วยเหตุนี้บริเวณดังกล่าวจึงได้รับการขนานนามตามลักษณะทางกายภาพว่า "น้ำตกเลือด" (Blood Falls)
9. ทะเลสาบสปอท เลค (Spotted Lake) – ประเทศแคนาดา
“สปอท เลค” ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในทะเลสาบที่มีแร่ธาตุชนิดต่างๆ อาทิ แมกนีเซียม ซัลเฟต, แคลเซียม และโซเดียม ซัลเฟต ในปริมาณเข้มข้นมากที่สุดในโลก แต่น่าเสียดายที่ทะเลสาบแห่งนี้อยู่ในที่ดินของเอกชน นักท่องเที่ยวจึงทำได้แค่มองจากราวรั้วกั้นริมถนนเท่านั้น (ส่วนที่เป็นจุดๆ คือน้ำ นอกนั้นเป็นส่วนของแร่ธาตุนานาชนิด ที่สามารถลงไปเดินสำรวจได้)
10. ทะเลทรายแบล็ค ร็อค (Black Rock Desert) ที่รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา
ทะเลทรายแบล็คร็อค คือ ก้นทะเลสาบที่แห้งสนิท ครั้งหนึ่งดินแดนแถบนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีชื่อว่า "Lahontan" ซึ่งปรากฏอยู่ในสมัย 18,000-7,000 พันปีก่อนคริสตกาล ในช่วงที่ทะเลสาบโบราณแห่งนี้มีระดับน้ำสูงสุด (เมื่อประมาณ 12,700 ปีก่อน) ทะเลทรายแบล็คร็อคเคยอยู่ใต้น้ำที่มีความลึกถึง 150 เมตรเลยทีเดียว
11. ถ้ำคริสตัล (Crystal Cave) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ถ้ำคริสตัล เป็น 1 ใน 240 ถ้ำ (ที่ถูกค้นพบ) ภายในอุทยานแห่งชาติ Sequoia ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ถ้ำดังกล่าวเป็นถ้ำ "หินอ่อน" ธรรมชาติ ที่ภายในมีอุณหภูมิคงที่ประมาณ 9 องศาเซลเซียส ซึ่งการจะเข้าไปชมภายในถ้ำต้องอาศัยไกด์ทัวร์เป็นผู้นำทางเท่านั้น
12. ทุ่งหินรูปรังผึ้ง Bungle Bungles ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย
ทุ่งหินทรายที่มีรูปทรงคล้ายรังผึ้ง หรือ Bungle Bungles นี้ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ Purnululu ที่องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) กลุ่มหินดังกล่าวประกอบด้วยหินทรายและหินกรวดมน ซึ่งเมื่อประมาณ 375-350 ล้านปีก่อนหินเหล่านี้เคยเป็นตะกอนในลุ่มน้ำ "Ord"
13. ภูเขาไฟ Redoubt ที่รัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา
Redoubt เป็นภูเขาไฟมีพลัง (active volcano) อายุนับพันๆ ปี ที่ยังคงคุกรุ่นและเกิดการปะทุหรือระเบิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา
14. ดินแดนโบราณ คัปปาโดเกีย ประเทศตุรกี
คัปปาโดเกีย ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี ค.ศ.1985 (พ.ศ. 2528) ดินแดนดังกล่าวมีภูมิประเทศที่แปลกตาซึ่งเกิดจากจากลาวาภูเขาไฟที่ไหลออก มาปกคลุมพื้นที่ เมื่อวันเวลาผ่านไป พายุ ลม ฝน ได้เป็นตัวแปรที่ก่อให้เกิดการแปรสภาพเป็นหุบเขา ร่องลึก เนินเขา กรวยหิน และเสารูปทรงต่างๆ ที่งดงาม บางส่วนมีประชาชนอาศัยอยู่ภายใน
15. ทะเล (สาป) เดือด Boiling Lake ประเทศโดมินิ
กา (Commonwealth of Dominica)
“Boiling Lake” เป็นบ่อน้ำพุร้อนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (รองจากทะเลสาป Frying Pan Lake ของประเทศนิวซีแลนด์) มีความกว้างราว 60 เมตร ลึก 59 เมตร อุณหภูมิริมทะเลสาปอยู่ที่ประมาณ 82 – 91.5 องศาเซลเซียส ระดับน้ำภายในทะเลสาปแห่งนี้มีลักษณะขึ้น-ลงตลอดเวลา โดยเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) น้ำในทะเลสาปแห่งนี้ได้แห้งเหือดหายไป และเพิ่งกลับมาอยู่ในระดับปกติอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
16. แม่น้ำสีแดง (Rio Tinto) ที่ประเทศสเปน
บริเวณ พื้นที่ตามแนวชายฝั่งแม่น้ำ Río Tinto มีการทำเหมืองทองแดง เงิน ทอง และแร่ธาตุอื่นๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ (ราว 5 พันปีก่อน) ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำดังกล่าวมีค่าความเป็นกรดสูงมาก ส่วนสาเหตุที่น้ำมีสีแดงก็เนื่องมาจากก้อนหินที่อยู่ในแม่น้ำแห่งนี้ประกอบ ด้วยธาตุเหล็กในปริมาณเข้มข้นนั่นเอง เหมืองในแถบนี้ถูกปิดมานานนับ 10 ปี แต่เนื่องจากทองแดงมีราคาสูงขึ้น เจ้าของเหมืองจึงมีแผนเปิดเหมืองทองแดงอีกครั้งในปีหน้า
17. หุบเขาโลกพระจันทร์ (Vale de Lua) ที่ประเทศบราซิล
หุบเขาโลกพระจันทร์ หรือ "the valley of the moon" เป็นที่ราบสูงโบราณที่มีอายุเก่าแก่กว่า 1.8 พันล้านปี โดยพื้นที่ว่างระหว่างก้อนหินจะมีน้ำจากแม่น้ำ San Miguel แทรกอยู่ภายใน ดินแดนประหลาดแถบนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ Chapada dos Veadeiros ซึ่งองค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) ที่ผ่านมา
เครดิต :
http://www.dek-d.com/